วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ชาวพิบูลฯ ขอขมาเจ้าแม่พระพือ เหตุยับยั้งเจาะแก่งหินทำเขื่อนกันน้ำท่วมไม่ได้

ชาวเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร รวมตัวขอขมาเจ้าแม่พระพือ บริเวณแก่งสะพือ เหตุไม่สามารถยับยั้งการเจาะแก่งหินทำเขื่อนกันน้ำท่วมได้ ขณะที่ยังเรียกร้องให้ปรับแปลน ไม่ให้กระทบสิ่งแวดล้อม

 (18 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีชาวบ้าน อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี เรียกร้องให้หยุดเจาะแก่งหินบริเวณหัวโค้งน้ำแม่น้ำมูลเพื่อสร้างเขื่อนกันน้ำท่วมและตลิ่งพัง เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อแก่งสะพือ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และแหล่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญของเมืองพิบูลมังสาหารนั้น
      
       ล่าสุดนายอธิชัย บุญประสิทธิ์ อาชีพค้าขาย เป็นตัวแทนชาวบ้านในเขตเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร นำเครื่องเซ่นไหว้ทำพิธีขอขมาลาโทษต่อศาลเจ้าแม่พระพือ ผู้ปกปักรักษาแก่งสะพือมาแต่โบราณกาล เพราะลูกหลานไม่สามารถช่วยปกป้องถิ่นที่อยู่ของเจ้าแม่พระพือไม่ให้ถูกทำลายจากโครงการเจาะแก่งหินดังกล่าวได้
      
       ขณะเดียวกัน เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหารได้นำป้ายแสดงแบบจำลองการก่อสร้างเขื่อนกันน้ำมูลค่า 61 ล้านบาทมาติดตั้งไว้ที่หน้าทางเข้าแก่งสะพือ ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้คัดค้านที่ต้องการเห็นรูปแบบการก่อสร้าง และให้ประชาชนทั่วไปรับทราบข้อมูล ส่วนการก่อสร้างขณะนี้ผู้รับเหมาได้หยุดขุดเจาะ เพียงใช้รถแบ็กโฮเกลี่ยหินที่ขุดไว้ให้เสมอกันไว้เท่านั้น
      
       นางทัศนีย์ บุญประสิทธิ์ แกนนำคัดค้านการสร้างเขื่อนกันน้ำท่วม กล่าวว่า ข้อเรียกร้องขณะนี้ คือ หยุดเจาะหินแก่งสะพือโดยเด็ดขาด รวมทั้งให้สร้างสันเขื่อนใหม่เท่ากับความกว้างของสันเขื่อนเดิมที่มีอยู่แล้ว คือ 2 เมตร เพื่อไม่ให้ยื่นเข้าไปในแม่น้ำมากเกินไป พร้อมให้ปรับแบบแปลน ไม่ให้ส่งผลกระทบกับทัศนียภาพและสิ่งแวดล้อมตัวแก่งสะพือที่อยู่บริเวณเดียวกัน
      
       เบื้องต้นได้รับแจ้งจากวิศวกรผู้ควบคุมงานก่อสร้างเขื่อนว่าจะไปหารือในที่ประชุมกรมโยธาธิการและผังเมือง ส่วนการจะหารือกับชาวบ้านในเขตเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร ต้องรอคำสั่งจากผู้ใหญ่
      
       สำหรับเขื่อนกันน้ำท่วมแห่งนี้ ใช้งบประมาณของกรมโยธาธิการและผังเมือง 61 ล้านบาทเศษ ลักษณะเป็นเขื่อนยาว 1,415 เมตร กว้าง 15 เมตร ปูด้วยหินใหญ่คลุมด้วยตะแกรงเหล็กกันน้ำเซาะพังช่วงฤดูน้ำหลาก ดดยต้องขุดเจาะแก่งหินที่เป็นสันดอนยาวประมาณ 150 เมตร

ราชภัฏอุบลฯ เปิดโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

  คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ได้จัดงานแถลงข่าวการเปิดโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ในวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ ณ ห้องแก้วกัลยา โดยมี ผศ.ประชุม ผงผ่าน อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และ ผศ.ดร.อารี หลวงนา รองอธิการบดี และรักษาการคณบดีคณะครุศาสตร์ ได้กล่าวแถลงถึงที่มาจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ได้เปิดรับนักเรียนชั้นบริบาล – ชั้นอนุบาล ๓ มาตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๒ และได้มีการพัฒนาการศึกษาและเตรียมความพร้อมในการเปิดโรงเรียนสาธิตฯ มาอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งมีผู้ปกครองนักเรียนร่วมเสนอชื่อสนับสนุนการเปิดโรงเรียนสาธิตฯ ในปี ๒๕๕๖ นี้ และทำการเปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นบริบาลจนถึงประถมศึกษาปีที่ ๖ โดยจะใช้อาคาร ๓๑ เป็นที่ทำการสอน ไปพร้อมๆ กับการสร้างอาคารถาวรในบริเวณคณะครุศาสตร์ นอกจากนี้ยังได้จัดทำแผนการศึกษาที่จะเปิดสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ในปีการศึกษา ๒๕๕๘ และในปีการศึกษา ๒๕๖๒ จะเปิดสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อเป็นการขยายฐานและต่อยอดทางการศึกษาในการบริการวิชาการแก่ท้องถิ่น ในส่วนของครูและอาจารย์ผู้สอนจะต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู  ตลอดทั้งเป็นที่ฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษา และเป็นสถานประกอบการทางการศึกษาของนักศึกษาในอนาคตต่อไป
          สำหรับช่วงนี้ได้เริ่มดำเนินการเปิดรับสมัครนักเรียนระดับชั้นบริบาล – ชั้นอนุบาล ๓ ตั้งแต่บัดนี้ จนถึง วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ และเปิดรับสมัครนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา ปีที่ ๑ ตั้งแต่บัดนี้ จนถึง วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๖  สนใจสอบถามรายละเอียดและสมัครได้ที่ ห้องธุรการ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โทรศัพท์ ๐-๔๕๓๕-๒๐๐๐ ต่อ ๑๒๑๓

ลำเซบกแห้ง กระทบปลูกพืชฤดูแล้ง พื้นที่การเกษตรขาดน้ำแล้วกว่า 7.5 แสนไร่


       ลำน้ำเซบก สาขาแม่น้ำมูลใน อ.ตระการพืชผล แห้งขอดจากภัยแล้ง ขณะที่ทั้งจังหวัดภัยแล้งครอบคลุมทั้ง 25 อำเภอ พื้นที่การเกษตรกว่า 7.5 แสนไร่ขาดน้ำ      
       ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุบลราชธานี ว่าลำน้ำเซบก สาขาแม่น้ำมูลใน อ.ตระการพืชผล ระดับน้ำลดลงจนผืนทรายโผล่พ้นน้ำ และเริ่มส่งผลกระทบกับเกษตรกรผู้ปลูกพืชฤดูแล้ง ทั้งถั่วฝักยาว มะเขือพวง ต้องใช้เครื่องสูบน้ำดึงน้ำดิบที่เหลืออยู่ตามแอ่งขึ้นมาใช้รดพืชผัก
      
       ทั้งนี้ ริมฝั่งลำเซบกมีพื้นที่เพาะปลูกพืชและข้าวนาปรังกว่า 2,000 ไร่ ซึ่งที่ผ่านมาชลประทานจังหวัดประกาศเตือนเกษตรกรให้งดการเพาะปลูกพืชในปีนี้ เพราะไม่มีน้ำเพียงพอ เนื่องจากภัยแล้งรุนแรงกว่าทุกปี แต่ยังมีบางพื้นที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำยังทำการเพาะปลูก และเริ่มได้รับผลกระทบ ขณะที่ทั้งจังหวัดมีพื้นที่ประสบภัยแล้งทั้ง 25 อำเภอ กว่า 750,000 ไร่

วันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ทธ.ชงครม.เสนอยูเนสโก “ผาชัน-สามพันโบก”อุทยานธรณีระดับโลก


นายประณีต ร้อยบาง อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.)กล่าวถึงการจัดตั้งอุทยานธรณีว่า ขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมและได้ทำความเข้าใจกับประชาชนในอ.ศรีเชียงใหม่ อ.โพธิ์ไทร และ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ซึ่งมีที่มีความโดดเด่นทางธรณีวิทยาประกอบด้วยผาชัน สามพันโบก สามหมื่นรู และแหล่งซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ อุทยานน้ำตกผาหลวง ถ้ำปฎิหาริย์ และถ้ำมืด อุทยานแห่งชาติผาแต้ม เป็นอุทยาธรณีแห่งแรกของประเทศไทย มีความสำคัญด้านการศึกษาด้านธรณีวิทยา สำหรับการดำเนินการจัดตั้งอุทยานธรณีวิทยา ซึ่งเป็นผลจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่จ.สุรินทร์ ที่ผ่านมาได้มติเห็นชอบในหลักการจัดตั้งอุทยานผาชัน สามพันโบก เป็นอุทยานธรณีแล้ว

ส่วนการดำเนินการต่อจากนี้จะต้องมาวางหลักเกณฑ์ รูปแบบการบริหารจัดการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การจัดตั้งอุทยานธรณีของการองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ที่กำหนดว่าต้องเป็นพื้นที่ที่ประกอบไปด้วยแหล่งที่มีความสำคัญอย่างโดดเด่นทางด้านธรณีวิทยา รวมถึงมีคุณค่าทางด้านโบราณคดี นิเวศวิทยา และวัฒนธรรม ที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ ทั้งบนบกและในทะเล ซึ่งในปัจจุบันนี้ทางยูเนสโกได้ประกาศอุทยานธรณีวิทยาแล้ว 90 แห่ง ใน 27 ประเทศทั่วโลก ในจำนวนนี้อยู่ในประเทศจีนมากที่สุดถึง 27 แห่ง ในอาเซียน 3 แห่งคือเกาะลังกาวี ปมาเลเซีย ฮาลองเบย์ เวียดนาม และเกาะลังบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย

“ขณะนี้กรมทรัพยากรธรณีได้วางแผนและสำรวจแล้ว และเหมาะที่จะตั้งเป็นอุทยานธรณีได้ใน 4 จังหวัดนำร่องประกอบด้วยอุทยานธรณีผาชัน-สามพันโบก จ.อุบลราชธานี เป็นแห่งแรกของประเทศไทย อุทยานธรณีละงู-ทั่งหว้า-มะนัง จ.สตูล และจังหวัด ขอนแก่น เมื่อจัดตั้งแล้วจะนำเสนอต่อยูเนสโก เป็นอุทยานธรณีระดับโลกต่อไป” อธิบดี กรมทรัพยากรธรณี กล่าว
__________________

วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เชิญชมงาน DX สุดเขตประเทศไทย ครั้งที่ 2 รวมพลแฮมอีสานใต้ 2-3 มี.ค.56


อีกครั้งกับ DX สุดเขตประเทศไทย ครั้งที่ 2 รวมพลแฮมอีสานใต้
ณ วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว จ.อุบลราชธานี
วันที่ 2-3 มีนาคม 2556
               เป็นกิจกรรมระดับประเทศของวงการวิทยุสมัครเล่น และที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นครั้งที่ 2 (จะมีแค่ 4 ครั้ง ครั้งที่ 1 ภาคใต้ ครั้งที่ 2 อิสาน ครั้งที่ 3 เหนือ ครั้งที่ 4 ภาคกลาง)
               ลักษณะกิจกรรม เป็นการติดต่อสื่อสารโดยใช้สัญญาณเรียกขานพิเศษ ที่ได้รับอนุญาตจาก กสทช. เป็นกรณีพิเศษ ย่าน VHF ภายในประเทศ ย่าน HF ติดต่อทั่วโลก
               เป็นการสมมุติเวลาเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติ การติดต่อสื่อสารจากบริเวณดังกล่าวสามารถติดต่อได้ไกลแค่ไหน และเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวจังหวัดอุบลราชธานี
               นอกจากนักวิทยุสมัครเล่นแล้วประชาชนที่สนใจในเรื่องการสื่อสาร สามารถร่วมและชมกิจกรรมในวันเวลาดังกล่าวได้นะครับ

ททท. เชิญ สปป.ลาว ร่วมจัดคาราวาน “รถยนต์ท่องเที่ยว สานสัมพันธ์สองฝั่งโขง ”

นายวิชุกร  กุหลาบศรี  ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานอุบลราชธานี เปิดเผยว่า ททท. สำนักงานอุบลราชธานี  ร่วมกับสมาคมธุรกิจการท่อง เที่ยวจังหวัดอุบลราชธานี และชมรมผู้ประกอบการท่องเที่ยวช่องเม็ก  กำหนดจัดโครงการ“คาราวานรถยนต์ท่องเที่ยว สานสัมพันธ์สองฝั่งโขง” ขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 24 กุมภาพันธ์ 2556   โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ  โดยการ ขับขี่รถยนต์เดินทางเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยว และกิจกรรมงานประเพณีที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดยโสธร  
                        ในการนี้  ททท. สำนักงานอุบลราชธานี  ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานการท่องเที่ยวแขวงจำปา-สัก และสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวแขวงจำปาสัก สปป.ลาว   จะนำคณะสมาชิกและนักท่องเที่ยวจากแขวงจำปาสัก เดินทางมาเข้าร่วมโครงการฯ ในห้วงดังกล่าว  นับเป็นการนำร่องภายใต้กลยุทธ์เชื่อมโยงไทยสู่เสรีอาเซียน  สร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ   โดยให้ภาคธุรกิจบริการท่องเที่ยวทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ ได้มีโอกาสประสานความร่วมมือระหว่างกัน  โดยใช้กิจกรรมการเดินทางท่องเที่ยวเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้เกิดความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
                        กำหนดการเดินทางของคาราวานรถยนต์ท่องเที่ยว สานสัมพันธ์สองฝั่งโขง จะเริ่มจากด่านชายแดนช่องเม็ก เดินทางไปท่องเที่ยวอุทยานสัตว์ป่าอุบลราชธานี และเข้าร่วมงานประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก ประจำปี 2556 พร้อมชมการแสดง แสง เสียงชุด “ เบิ่งแญง ฟ้าหยาดนครา เย็นศิระใต้ฟ้า พระบารมี ในคืนวันที่ 23 กุมภาพันธ์ จากนั้น จะนำคณะเดินทางไปนมัสการพระธาตุพระอานนท์ ที่ จ.ยโสธร และเดินทางกลับมาจับจ่ายซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค ที่ห้างสรรพ สินค้าบิ๊กซี อุบล อันจะเป็นการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวมาสู่ประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นต่อไป
                        นักท่องเที่ยวที่สนใจเข้าร่วมคาราวาน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานอุบลราชธานี โทรศัพท์ 045 - 243 770 ,  อินโดจีน เกทเวย์   โทร. 081-173 9425     และ เอวี ฮอลิเดย์  โทร. 080-475 9172 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

เชิญร่วมงานพุทธาภิเษก สมโภชน์พระประธาน วัดป่าโสภาวนาราม





วัดป่าโสภาวนาราม จัดงานพุทธาภิเษก สมโภชน์พระประธาน ในวันที่ 2 มีนาคม 2556 ณ วัดป่าโสภาวนาราม บ้านค้อ ต.กุดลาด อ.เมือง
จ.อุบลราชธานี ในวันที่ 2-3 มีนาคม 2556
โดยกิจกรรมภายในงาน
วันที่ 2 มีนาคม 56
เวลา 15.00 – 18.00 น. ลงชีพราหมณ์
เวลา 19.00 น.เจริญพุทธมนต์
เวลา 20.00 น.ฟังเทศนา
เวลา 21.00 น. จุดเทียนชัย จากนั้นเริ่มพิธีสมโภชน์ตลอดคืน
วันที่ 3 มีนาคม 56
เวลา 09.09 น.ทอดผ้าป่า

วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

Central Plaza Ubonratchathani














































กางแผนสยายปีกดุสิตอินเตอร์ฯ

ดุสิตอินเตอร์เนชั่นแนล เดินแผน 5 ปีเพิ่มเครือทั่วโลก 50 แห่ง ปักธงเข้าจีน 5 พันห้อง ไม่รวมการมองโอกาสที่จะลงทุนสร้างเอง หลังล่าสุดร่วมทุนจีนตั้งบริษัทรับบริหาร คาดอีก 10 ปีจำนวนโรงแรมเครือดุสิตในจีนจะมีขนาดใหญ่กว่าธุรกิจในไทย 

พร้อมดันกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดุสิตธานี เป็นหัวหอกขยายพอร์ตโรงแรมใหม่ในประเทศ ทั้งเตรียมบริหารโรงแรมใหม่ที่เขาใหญ่ของตระกูลวิไลลักษณ์
นายชนินทธ์ โทณวณิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าทิศทางการดำเนินธุรกิจของดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนลในช่วง 5 ปีข้างหน้า ได้เสนอแนวทางการเติบโตของบริษัทใหม่ให้แก่คณะกรรมการบริหารของบริษัทพิจารณาเห็นชอบแล้ว โดยจุดหลักจะเน้นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ควบคู่ไปกับการเพิ่มกำไรให้กับธุรกิจ
ดังนั้นภายใน 5 ปี จะมีการปรับสัดส่วนรายได้ของธุรกิจโรงแรม จากปัจจุบันที่มีรายได้หลักจากธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยอยู่ที่ 80% และต่างประเทศ 20% มาเป็นการปรับสัดส่วนรายได้ให้อยู่ที่ 50:50 เนื่องจากในช่วงที่ประเทศไทยมีปัญหา อย่างการมายิงกันอยู่ที่หน้าโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯหรือความวุ่นวายต่างๆ ในไทย ที่ผ่านมาดุสิตจะกระทบมากกว่าคนอื่น เพราะดำเนินธุรกิจโรงแรมในระดับ 5 ดาวเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ต้องมีการปรับแผนให้สอดคล้องกับเป้าหมายการเพิ่มโรงแรมในเครือดุสิตรวมเป็น 50 แห่งทั่วโลก หรือเฉลี่ยมีการเติบโตปีละ 7-10 แห่ง
โดยเป้าหมายการขยายธุรกิจในต่างประเทศจะเน้นการรับบริหารโรงแรมเพิ่มขึ้น พร้อมๆกับมองโอกาสการเข้าไปลงทุนโรงแรมในเมืองที่มีศักยภาพ ในลักษณะเดียวกับการเข้าไปร่วมลงทุนโรงแรมในมัลดีฟส์ ส่วนในประเทศไทย จะเน้นขยายการลงทุนโรงแรมใหม่ในประเทศไทย โดยผ่านกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดุสิตธานีหรือกองทุนDTCPF เพราะถ้าในประเทศไทยเกิดมีปัญหาอะไร บริษัทก็จะไม่ได้รับผลกระทบไปทั้งหมด เพราะตามกฎหมายดุสิตถือหุ้นในกองทุนได้ไม่เกิน 33% ขณะเดียวกันยังเป็นโอกาสที่ผู้ถือหุ้นในกองทุนจะเข้ามาช่วยขยายการลงทุนโรงแรมใหม่ด้วย ทั้งนี้ดุสิตยังมีโอกาสที่จะลงทุนเพิ่มเติม เพื่อทำรายได้ให้แก่ผู้ถือหุ้นได้ เพราะปัจจุบันมีหนี้สินอยู่ที่ 0.4 ต่อ 1 เท่านั้น ซึ่งตนมองการลงทุนเพิ่มไม่ให้บริษัทมีหนี้สินเกิน 1: 1
สำหรับประเทศที่ดุสิตจะเข้าไปขยายธุรกิจอย่างมาก คือประเทศจีน ล่าสุดได้ตัดสินใจร่วมทุนกับChanzhou Qiao Yu Group ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และโรงแรมของจีน เพื่อจัดตั้งบริษัทรับบริหารโรงแรมในจีน ในนามบริษัทดุสิต ฟูดู อินเตอร์เนชั่นแนล โฮเต็ล แมเนจเม้นท์ (เซี่ยงไฮ้)จำกัด ซึ่งบริษัทดุสิต ไชน่า แคปปิตอล จำกัดถือหุ้น 45% ทางจีนถือหุ้น 49% และฝ่ายบริหารของดุสิตถือหุ้น 10% ทุนจดทะเบียน 30 ล้านหยวนหรือราว 150 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดสำนักงานได้ในเดือนมีนาคมนี้ เพื่อขยายการเติบโตระยะยาวในจีน
ทั้งนี้การตัดสินใจไปตั้งบริษัทรับบริหารโรงแรมร่วมกับพันธมิตรจีน ทำให้สามารถเติบโตในจีนได้อย่างรวดเร็วหรือโตได้กว่า 2-3 เท่า มากกว่าเดิมที่ใช้สำนักงานที่ฮ่องกง ในการขยายการรับบริหารโรงแรมในจีน เนื่องจากเห็นว่าหากเข้าไปสร้างแบรนด์ในจีน ก็จะทำให้แบรนด์เราเป็นที่รู้จัก และเมื่อคนจีนเลือกที่จะเดินทางมายังประเทศไทยหรือต่างประเทศ ก็จะเลือกเข้าพักกับโรงแรมของดุสิตเช่นกัน
สาเหตุที่จะเข้าไปลงทุนในจีน ก็เป็นเพราะจีนเป็นตลาดที่มีอนาคต และจะเป็นตลาดท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุด รวมถึงเศรษฐกิจในจีนอนาคตก็จะขยายตัวใหญ่สุดในโลก ประกอบกับเงินหยวน อนาคตก็แข็งค่าขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์กับการลงทุนในจีนของดุสิตในระยะยาว นอกจากนี้ตลาดจีนเป็นตลาดที่ใหญ่มาก 
"ภายในปี 2561 ดุสิตจะมีห้องพักภายใต้การบริหารในจีนรวมกว่า 5 พันห้องจากโรงแรมจำนวน 20 กว่าแห่ง ยังไม่รวมโรงแรมที่ดุสิตเองก็มองโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนด้วย โดยแบรนด์ที่ดุสิตจะนำเข้าไปเปิดตลาด คือ ดุสิตธานี ดุสิตดีทู บางเมืองอาจมีดุสิตเดวาราณา รวมถึงเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ด้วย ซึ่งเริ่มแรกจะรับบริหารโรงแรม 10 แห่งในจีน โดยเป็นโรงแรมที่เมืองไห่หนาน 2 แห่ง ที่กวางเจา 1 แห่ง โรงแรมที่เป็นการลงทุนเองของกลุ่มที่เราไปร่วมลงทุนตั้งบริษัทรับบริหารโรงแรมที่เปิดแล้ว 2 แห่งที่ฉางซู ชิงเต่า และกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 4 แห่ง และโรงแรมใหม่ๆ ของคนอื่นที่เรากำลังเจรจาที่จะเข้าไปรับบริหารอีก 2-3 ราย ดังนั้นผมจึงเชื่อว่าในอีก 10 ปี จำนวนโรงแรมและจำนวนห้องพักเครือดุสิตในจีนจะมีขนาดใหญ่กว่าธุรกิจในไทยด้วยซ้ำ"
นอกจากนี้ยังมองการลงทุนโรงแรมใหม่ๆในเมียนมาร์และอีก 2-3 ประเทศ ก็หวังว่าน่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ ซึ่งที่เมียนมาร์จะมองการลงทุนโรงแรมและโรงเรียนสอนการโรงแรมในพื้นที่ติดกัน รวมถึงการขยายการรับบริหารโรงแรมในประเทศอินเดีย แต่อินเดียมีปัญหาเรื่องการขออนุญาตก่อสร้างโรงแรมที่ล่าช้ามาก โดยดุสิตรับบริหารโรงแรมในอินเดีย 4-5 แห่ง ปีนี้เปิดได้ 2 แห่ง ซึ่งการขยายธุรกิจของดุสิตในอินเดียจะโตช้ากว่าจีนมาก
นายชนินทธ์ ยังกล่าวอีกว่า ในปีนี้ดุสิตจะเปิดให้บริการโรงแรมในต่างประเทศได้ราว 7 แห่งได้แก่ โรงแรมดุสิตธานี อาบู ดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โรงแรมดุสิตธานี กวม สหรัฐอเมริกา โรงแรมดุสิตเดวาราณา ไห่หนาน ประเทศจีน โรงแรมดุสิตเดวาราณา นิวเดลี อินเดีย โรงแรมดุสิตดีทู นิวเดลี อินเดีย โรงแรมดุสิตดีทู พาซาดีน่า สหรัฐอเมริกา โรงแรมดุสิตดีทู ไนโรบี เคนยา 
ส่วนการขยายธุรกิจในประเทศไทย ดุสิตได้เซ็นสัญญารับบริหารไปแล้ว 1 โรงแรม คือ โรงแรมดุสิตดีทู เขาใหญ่ ของตระกูลวิไลลักษณ์ เจ้าของบริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่นฯ ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งไม่ได้เน้นการรับบริหารโรงแรมในประเทศมากนัก เพราะค่าจ้างบริหารในไทยจะต่ำกว่าการบริหารโรงแรมในต่างประเทศมาก
จุดหลักจึงจะเน้นการขยายการลงทุนโรงแรมใหม่ในประเทศไทย ผ่านกองทุน DTCPF โดยจะเข้าไปซื้อโรงแรม 2-3 แห่ง ซึ่งมองไว้ที่สมุย โรงแรมระดับ 4 ดาวในภูเก็ต และหัวเมือง เช่น อุดรธานี ขอนแก่นอุบลราชธานี เพื่อนำมาเข้ากองทุน ซึ่งดุสิตมองโรงแรมใหม่ที่จะเข้าไปซื้อ 100% เหมือนที่ได้ไปซื้อโรงแรมดุสิตธานี ลากูน่า ภูเก็ต เพราะทรัพย์สินของดุสิตที่มีอยู่ มีอายุ 20-30 ปี ถ้าเอาเข้ากองทุน จะต้องเสียภาษีขายเข้ากองทุนเป็นวงเงินที่สูงมากเกินไป
ขณะนี้ดุสิตอยู่ระหว่างการรีโนเวตโรงแรมรอยัล ปริ๊นเซส เชียงใหม่ และจะรีแบรนด์เป็นดุสิตปริ๊นเซส เชียงใหม่ โดยในปีนี้จะใช้งบราว 50 ล้านบาทในการปรับปรุงโรงแรม
ในส่วนของเป้าหมายการเติบโตของรายได้ในปีนี้ คาดว่าจะเติบโตอย่างน้อย 15-20% ขณะที่ทิศทางของการท่องเที่ยวในปีนี้ก็มีแนวโน้มขยายตัวกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งปีที่แล้วถือเป็นปีแรกในรอบ 6 ปีที่สถานการณ์ในไทยนิ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้ผู้ประกอบการห้องพักสามารถปรับราคาขึ้นมาได้บ้าง เพราะไทยมีปัญหาเรื่องของราคาห้องพักที่ถูกที่สุดในเอเชีย และภาครัฐบาลควรมองเรื่องการขยายโครงสร้างพื้นฐานให้ทันต่อการรองรับนักท่องเที่ยว

วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

กฤษฎา นร.รร.กีฬาอุบลฯ คว้ารางวัลเชิดชูเกียรตินักกีฬายอดเยี่ยม ปี 55

 วันที่ 1 ก.พ. 56) นายณรงค์ศักดิ์  คุรุพันธ์  ผู้อำนวยการโรงเรียนกีฬาจังหวัดอุบลราชธานี  เปิดเผยถึงการเตรียมเดินทางไปร่วมงานวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 8 ปี สถาบันการพลศึกษา ประจำปี 2556 ในวันอังคาร ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 ณ สำนักอธิการบดี สถาบันการพลศึกษา จังหวัดชลบุรี ว่า สำหรับกิจกรรมในวันดังกล่าวช่วงเช้า จะมีพิธีบวงสรวงสักการะพระพลบดี การถวายภัตาหาร  รวมถึงการมอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่บุคลากร นักเรียน นักศึกษา และนักกีฬา ที่ทำคุณประโยชน์แก่สถาบันการพลศึกษา ประจำปี 2555
               และเป็นที่น่ายินดีสำหรับโรงเรียนกีฬาจังหวัดอุบลราชธานี ที่มีนักกีฬาในสังกัดได้รับคัดเลือกให้รับรางวัลเชิดชูเกียรตินักกีฬายอดเยี่ยม นั่นคือ นายกฤษฎา  นามสุวรรณ นักกรีฑาหนุ่มอนาคตไกล ปัจจุบันศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งทำผลงานในการเข้าร่วมแข่งขันกีฬารายการต่างๆ ได้อย่างโดดเด่น อาทิ รางวัลชนะเลิศวิ่ง 100 เมตร ในกีฬาเยาวชนแห่งชาติครั้งที่ 28 ที่จังหวัดภูเก็ต  รางวัลชนะเลิศวิ่ง 100 เมตร ในกีฬานักเรียนนักศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 33 ที่จังหวัดอุบลราชธานี  รวมถึงการคว้าอันดับ 9 วิ่งผลัด 4x100 ในการแข่งขันกรีฑาเยาวชนชิงแชมป์โลก ที่เมืองบาเซโลน่า ประเทศสเปน และล่าสุดกับการคว้ารางวัลรองชนะเลิศ วิ่ง 100 เมตร ในการแข่งขันกีฬานักเรียนนักศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 34 ที่จังหวัดแพร่  นอกจากนี้นายกฤษฎา  นามสุวรรณ ยังได้เป็นตัวแทนนักกรีฑาของโรงเรียนเข้าร่วมเก็บตัวฝึกซ้อมในโครงการดาวรุ่งมุ่งสู้โอลิมปิกที่สมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทย เพื่อเตรียมเข้าร่วมการแข่งขันกีฬารายการต่างๆ ในนามนักกีฬาทีมชาติไทย
               นอกจากนี้ นายณรงค์ศักดิ์  คุรุพันธ์  ผู้อำนวยการโรงเรียนกีฬาจังหวัดอุบลราชธานี  ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ถือเป็นเรื่องที่ดี และขอแสดงความยินดีกับ กฤษฎา  นามสุวรรณ ในครั้งนี้ด้วย ถือเป็นนักกรีฑาดาวรุ่งที่มีความมุ่งมั่น ทุ่มเท ในการฝึกซ้อมเป็นอย่างมาก และในอนาคตน่าจะเป็นนักกีฬาความหวังของสมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทยอีกคนหนึ่ง             ในการเข้าร่วมแข่งขันรายการต่างๆ อาทิ ซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์

อบจ.อุบลฯ แก้ภัยแล้ง ทำชลประทานระบบท่อเป็นตาข่ายน้ำทั่วจังหวัดอุบล

นายกพรชัย เปิดใจผ่านสื่อในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง อนาคตผมไม่อยากเห็นท่อพีวีซี แต่อยากเห็นเป็นตาข่ายน้ำทั่วจังหวัดอุบลฯ
               นายพรชัย โควสุรัตน์ นายก อบจ.อุบลฯ ให้สัมภาษณ์สื่อทีวีผ่านช่อง Thai PBS ถึงแนวทางการแก้ปัญหาภัยแล้งตามโครงการชลประทานระบบท่อ ณ บ้านท่าไห ต.ท่าไห อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี
               ด้านนายพรชัย โควสุรัตน์ นายกอบจ.อุบลฯ กล่าวว่า เดิมพื้นที่แห่งนี้ เป็นพื้นที่ลุ่ม ติดแม่น้ำชี ช่วงหน้าแล้งจะแล้งมาก ช่วงหน้าน้ำหลากน้ำจะท่วม เกษตรกรไม่สามารถทำนาได้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี จึงนำโครงการชลประทานระบบท่อเข้ามาช่วยเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรได้
               สำหรับโครงการชลประทานระบบท่อเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน เป็นโครงการต่อเนื่อง ที่อบจ.อุบลฯ ทำขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชน โดยดำเนินการแล้วทั้งจังหวัด 25 อำเภอ ซึ่งตนตั้งเป้าไว้ที่ 2,200 กลุ่ม ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 853 กลุ่ม และยังอยู่ระหว่างการยื่นขอเข้าร่วมโครงการอีก 1,400 กลุ่ม จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่าเกษตรกรสามารถทำนาได้ 2-3 ครั้ง/ปี ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรว่า 200,000 ไร่ ซึ่งการดำเนินการตามโครงการชลประทานระบบท่อ อบจ.อุบลฯจะเป็นผู้สนับสนุน เครื่องสูบน้ำขนาด 6 นิ้ว และท่อพีวีซี ให้กับกลุ่มเกษตรกร ส่วนการบริหารจัดการนั้นชาวบ้านเป็นผู้บริหารจัดการกันเอง

ประเพณีสงกรานต์ไทย-ลาว แม่น้ำโขง

เดือนเมษาของทุกปี มีความหมายต่อคนไทยทั้งประเทศเพราะเป็นปีใหม่ของไทยในอดีตก่อนปีพ.ศ. 2484 ปัจจุบันความสำคัญยังมีอยู่ในเดือนนี้ คือการจัดงานสงกรานต์แล้วยังมี “ วันกตัญญู ” “ วันครอบครัว ” “ วันผู้สูงอายุแห่งชาติ ” และ “ วันเชงเม้ง ” อีกด้วย สงกรานต์เป็น “ ประเพณี ” ที่คนไทยใส่ใจสืบสานมานานแต่ครั้งโบราณโดยมิเสื่อมคลายในด้านการท่องเที่ยว ททท.ได้ใช้ประเพณีสงกรานต์เป็น “ จุดขาย ” ไปทั่วโลก เช่น “ สงกรานต์เชียงใหม่ ” มีชื่อเสียงเกริกไกรหลายสิบปี
          ในการสัมมนา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทยครั้งใหญ่ที่ กทม. เมื่อ พ.ศ. 2528 จากผู้เข้าสัมมนาทุกสาขาอาชีพได้ข้อสรุปว่า “ จุดขายการท่องเที่ยวไทย ” ส่วนใหญ่ประกอบด้วย 4 ว. ได้แก่
          1.ว.วัง 2. ว.วัด 3. ว.วัฒนธรรมประเพณี 4. ว.วิวทิวทัศน์
          ด้วยเหตุนี้ ประเพณีสงกรานต์จึงเป็นจุดขายได้เป็นอย่างดี อุบลราชธานีมีประเพณีวัฒนธรรมเป็นจุดขายไปทั่วโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 ที่ทราบกันดี คือ ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา นอกจากนี้ยังมีจุดขายตามข้อ 2, 3, 4 อีกจำนวนมาก สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึง ก็คือ การส่งเสริมสนับสนุนที่ถูกหลักวิชาการ
          ทางด้านผู้บริหารบ้านเมือง ในท้องที่ซึ่งมีทรัพยากรการท่องเที่ยวทั้ง 4 ว. ต่างก็จัดกิจกรรมสนับสนุนส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวกันอย่างเต็มที่เพื่อให้แพร่หลายติดตลาด เป็นการสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นในยุควิกฤติเศรษฐกิจยามนี้
          อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี มีหาดทรายแก่งหินที่เลื่องชื่อ กำลังได้รับการ Promote เพื่อเป้าหมายข้างต้น นาย ประศาสน์ ผลแก้ว นายอำเภอโพธิ์ไทร และคณะทำงานได้ให้ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวแห่งสำคัญดังนี้
ประวัติการเล่นน้ำสงกรานต์ ตามลำน้ำโขง
          ในอดีตดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (ประเทศลาว-ปัจจุบัน) มีเทศกาลที่ถือปฏิบัติเหมือนกัน คือ เทศกาลสงกานต์หรือ เทศกาลขึ้นปีใหม่ไทย-ลาว โดยถือช่วงประมาณกลางเดือน เมษายน ในระหว่างวันที่ 13-15 เป็นช่วงเดือนศก หรือขึ้นปีใหม่ โดยเฉพาะชาวลาวถือเป็นเทศกาลที่มีความสำคัญ มีการเล่นน้ำ รดน้ำดำหัว จนถึงปลายเดือนเมษายน
          เนื่องจากประเทศไทยและลาว ในอดีตมีความสัมพันธ์ทางด้านดีมาตลอดและผนวกกับประชาชนทั้งสองประเทศตามแนวชายแดนมีความสัมพันธ์กันเป็นการส่วนตัว เช่น การประกอบอาชีพ การสมาส ดังนั้นประเพณีสงกรานต์ของประชาชนทั้งสองประเทศจึงถูกเชื่อมโยงมาอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้จากในแต่ละปีไทย-ลาว จะจัดประเพณีสงกรานต์ ร่วมกันคลอดแนวลำน้ำโขงเช่น เชียงราย เชียงขอน ปากชม หนองคาย มุกดาหาร อุบลราชธานี อำเภอโพธิ์ไทร ตำบลสองคอน
การติดต่อสัมพันธ์กับประเทศลาว
          ในอดีตการติดต่อสัมพันธ์กับประเทศลาว ส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อขายและแลกเปลี่ยนสินค้า โดยประชาชนทั้งสองประเทศจะนำสินค้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนตลอดแนวชาวแดน โดยใช้เงินบาทแลกเงินกีบ สินค้าจากลาวส่วนมากเป็นของป่า พืชผลทางการเกษตร สินค้าของไทย ได้แก่เครื่องนุ่นห่ม เครื่องอุปโภคบริโภค เนื่องจากในอดีต เส้นทางการคมนาคมจากลาวไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่สะดวกที่สุด คือ เส้นทางที่ติดต่อกับประเทศไทย
          ปัจจุบัน การติดต่อสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศลาว หลังประเทศลาวเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไทยลาวมีการติดต่อสัมพันธ์ทางการค้ามีความเป็นระบบมากยิ่งขึ้น มีด่านศุลกากร ด่านตรวจคนเข้าเมือง และมีการเชื่อมเส้นทางการค้า เช่น ทางมิตรภาพไทยลาว-หนองคาย ด่านช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี ตลาดอินโดจีน มุกดาหาร
การอนุรักษ์ประเพณีขึ้นปีใหม่-ไทยลาว
          องค์การบริหารส่วนตำบลสองคอน ได้จัดกิจกรรมอนุรักษ์ประเพณีขึ้นปีใหม่ไทย-ลาว ที่สืบทอดการเล่นน้ำหาดสลึงซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยไทย-ลาว เป็นประเทศเดียวกัน โดยจัดเป็นงานประเพณีสงกรานต์หาดสลึงมาทุกปี งานจัดระหว่างวันที่ 9-15 เมษายน

ส่วนหนึ่งของ หาดสลึง และแก่งหินในแม่น้ำโขงที่ ต.สองคอน อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลฯ
ประเพณีสงกรานต์หาดสลึง

          หาดสลึง เป็นหาดทรายที่ทอดยาวจากปากห้วยกะหลาง ที่ไหลตกแม่น้ำโลงบ้านกะหลาง หมู่ที่ 6 ตำบลสองคอน อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี หาดแห่งนี้มีความยาวประมาณ 700- 800 เมตร เป็นสถานที่พักผ่อนเล่นน้ำของชาวอำเภอโพธิ์-ไทร และนักท่องเที่ยวทั่วไปน้ำบริเวณหาดไม่ลึก และไหลเอื่อย นักท่องเที่ยวสามารถมาเล่นน้ำได้อย่างสบาย ภูมิทัศน์บริเวณหาดสลึง สวยงามมากถ้ามองจากจุดชมวิวทั้ง 2 หมู่บ้าน คือ บ้านสองคอน และบ้านปากกะหลาง นักท่องเที่ยวสามารถชมความงดงามของหาดสลึงได้ตั้งแต่ กลางเดือนมกราคม ถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี จาการมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเล่นน้ำ โดยเฉพาะในช่วงสงกรานต์ถึงปีละประมาณ 20,000 คน หาดแห่งนี้ได้รับการขนานนามจากนักท่องเที่ยวว่าเป็น “ พัทยาแห่งโพธิ์ไทร ”
ประวัติความเป็นมาของชื่อหาด
          ชื่อหาดสลึง เกิดจาการที่คนมาเล่นน้ำช่วงสงกรานต์สมัยที่ใช้เหรียญสลึง 1 สลึงสมัยนั้นมีค่าสามารถซื้อควายได้ 1 ตัว ตามนิสัยของคนไทยบางคนเมื่อมารวมกันมาก มักจะมีการพนันเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ ผู้ที่มาเล่นน้ำที่หาดแห่งนี้ได้ตั้งคำท้าทายความสามรถโดยมีเดิมพันว่า ณ กลางเดือนหน้า (เมษายน) เวลาเที่ยงวันถ้าใครสามารถเดินหรือวิ่งบนหาดได้ตลอดแนวโดยไม่แวะพักระหว่างวิ่ง จะได้รับเงินเดิมพัน 1 สลึง นับตั้งแต่มีการเดิมพันมาไม่เคยมีใครได้รับรางวัลนี้เลย ชาวบ้านจึงขนานนามหาดแห่งนี้ว่า หาดสลึง
          รวบรวมประวัติ : นาย เรืองประทิน เขียวสด อ.2 ระดับ 7 โรงเรียนบ้านสองคอน นาย สมหมาย โสสิงห์ ประธานกรรมการบริหาร อบต.สองคอน และคณะ
          หมายเหตุของผู้เขียน หาดแห่งนี้มีนามเรียกขานว่า “ หาดสลึง ” มาแต่ดั้งเดิมมานานแล้ว เป็นชื่อที่แปลกและน่าสนใจ ขอร้องอย่าให้มีใครมาตั้งชื่อใหม่ โดยเพิ่มค่าของเงินสลึงเป็น หาดสอง... หาดสาม... หาดสี่สลึง ช่วยกันรักษาชื่อเดิมไว้ตลอดไปนะครับ
          เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวแห่งสำคัญของอำเภอโพธิ์ไทรให้แพร่หลายกว้างขวางยิ่งขึ้น ผู้เขียนจึงได้ข้อมูลข้างต้นพร้อมกับเผยแพร่งาน “ เทศกาลตักปลาที่โพธิ์ไทร ” จากความร่วมมือของคุณ อดิศร เจริญอริยทรัพย์ ศึกษาธิการอำเภอโพธิ์ไทรโดยเขียนบทความสารคดีการท่องเที่ยว เพื่อลงในอนุสาร อ.ส.ท. ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งมีสถิติจำนวนพิมพ์ 70,000 ฉบับ แพร่หลายไปทั่วไทยและทั่วโลก พร้อมกับภาพถ่ายประกอบอย่างชัดเจนแจ่มแจ๋ว ฝีมือของคุณวรรวิมล ดั่นประดิษฐ์ หัวหน้าฝ่ายข้อมูลและติดตามผลสำนักงานจังหวัดอุบลราชธานี (ผู้รักการถ่ายภาพเป็นงานอดิเรกเช่นเดียวกับงานอาชีพ) ดังต่อไปนี้

แม่น้ำโขงในหน้าแล้ง แก่งหินสวยงาม มี ปากบ้อง อยู่กลาง ระยะทางเพียง 56 กิโลเมตร
ชมหาดทรายและการตักปลาที่โพธิ์ไทร
          การท่องเที่ยวทางน้ำในเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อชมทัศนียภาพและวิถีชีวิตพื้นบ้าน ชมการประมงแบบดั้งเดิมที่น่าสนใจ ณ ตำบลสองคอน อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี ท้องถิ่นแห่งนี้มีแม่น้ำโขงเป็นสายเลือดใหญ่ในการดำรงชีวิต พอย่างเข้าหน้าแล้งสายน้ำจะลดลง แก่งหินหาดทรายจะโผล่ปรากฏเต็มไปหมดทั้งบริเวณ หาดทรายแห่งนี้ชาวบ้านเรียกว่า “ หาดสลึง ” มีความยาวถึง 700- 800 เมตร นักท่องเที่ยวและชาวบ้านขนานนามว่า “ พัทยาแห่งโพธิ์ไทร ” ช่วงสงกรานต์มีคนไปเที่ยวจำนวนหนึ่งส่วนแก่งหินนั้นจะแปลกกว่าที่อื่นๆ เนื่องจากมีแก่งหินอยู่ 2 ข้าง ฝั่งแม่น้ำโขง มีร่องน้ำไหลฝ่านกลาง ภาษาถิ่นเรียกว่า “ ปากบ่อง ” ลักษณะเหมือนคอขวด ส่วนที่แคบที่สุดวัดได้ 56 เมตร พันคอขวด “ ปากบ่อง ” ออกไปเป็นเวินน้ำกว้างใหญ่ ที่เวินหรือเวิ้งน้ำนี้ชาวบ้านประกอบอาชีพด้วยการประมงแบบดั้งเดิมใช้อุปกรณ์พื้นบ้านเรียกว่า “ ตุ้ม ” และอุปกรณ์ประกอบอย่างอื่น หาปลาในน้ำโขง
          สิ่งที่นักท่องเที่ยวและคนต่างถิ่นตั้งใจมาดูเป็นพิเศษก็คือการ “ ตักปลา ” หน้าปากบ่อง เพราะเป็นการจับปลาที่แปลกประหลาดกว่าที่อื่นๆ ไม่ต้องใช้เหยื่อตกเบ็ด หรือทอดแหแต่ใช้สวิงขนาดใหญ่ด้ามยาวคล้ายสวิงตับแมลงคอยตักปลาที่ว่ายจากเวินน้ำกว้างจะแหวกว่ายผ่านปากบ่องทวนกระแสน้ำเพื่อขึ้นไปวางไข่ที่ต้นน้ำตามสัญชาติญาณของปลา นับว่าเป็นการหาปลาที่ง่ายกว่าวิธีอื่นๆ ทางอำเภอโพธิ์ไทรได้ร่วมกันจัดงาน “ เทศกาลตักปลา ” ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปี มีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเป็นจนวนมาก
          เมื่อท่องเที่ยวหาดทราย แก่งหิน ที่โพธิ์ไทรอย่างเต็มอิ่มและประทับความงามไว้อย่างเต็มตาแล้ว ก็มาเที่ยวงานสงกรานต์ที่มีประวัติยาวนานระหว่างไทย-ลาว ที่อำเภอเขมราฐกันบ้าง เขมราฐ เป็นเมืองเก่าแก่แต่โบราณ มีความรุ่งเรือง มีเจ้าเมืองครอบครอง ชาวเขมราฐมีเกียรติคุณสูงเด่นหลานท่าน
สงกรานต์กลางแม่น้ำโขงที่เขมราฐ
          การท่องเที่ยวทางน้ำในเดือนเมษายนที่นิยมกันไปเที่ยวกันมาก คือลำน้ำโขงในเขตท้องที่อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ตรงกันข้ามกับท่าประชุม ของ สปป.ลาว เนื่องจากช่วงกลางเดือนเมษายน มีประเพณีงานสงกรานต์ชาวบ้านจากฝั่งไทย และฝั่งลาวได้ร่วมกันจัดงานสงกรานต์ด้วยกันมานานแต่โบราณ ผู้เขียนได้ไปร่วมงานเมื่อปี พ.ศ. 2506 จัดงานที่แก่งหินหาดทราบกลางลำแม่น้ำโขง เพราะเป็นหน้าแล้ง สายน้ำเกือบแห้งมีไหลเฉพาะร่องน้ำลึกเท่านั้น
          งานประเพณีสงกรานต์ที่ชาวบ้านทั้ง 2 ฝั่งโขงกระทำกิจกรรมร่วมกันเป็นที่น่าศรัทธามาก โดยกำหนดเอาวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปีเป็น “ วันโฮม ” (วันรวม) เวลาบ่าย 3 โมง พระสงฆ์จะตีกลองโฮม ชาวบ้านจะนำน้ำอบ น้ำหอมลอยดอกไม้ป่ากลิ่นหอม เช่น กรันเกรา (ดอกมันปลา) ใส่ครุไม้มารวมกันบ้านละ 1 หาบ ที่ผาม (ปะรำ) ทำด้วยไม่ไผ่มุงด้วยใบตาล บนเกาะแก่งกลางน้ำโขง เมื่อชาวบ้านรวมกันพร้อมแล้ว ก็ตีระฆังให้พระสงฆ์มาร่วมพิธีสรงน้ำพระพุทธรูป ที่พระสงฆ์และชาวบ้านอัญเชิญมา แล้วสรงน้ำพระเณรทุกรูป ชาวบ้านทั้ง 2 ฝั่ง ต่างก็รดน้ำอวยพรซึ่งกันและกัน เด็กๆ ฉีดน้ำเล่นกันด้วย “ บั้งเดี๊ยก ” (คือกระบอกฉีดน้ำทำด้วยไม้ไผ่) พอตกเย็นพระสงฆ์ก็สวดมนต์เย็น 3 วันติดต่อกัน แต่ละวันมีการก่อเจดีย์ทรายที่หาดทรายริมแก่ง เมื่อเสร็จพิธีทางศาสนาชาวบ้านมีการละเล่นกีฬาพื้นบ้านบนหาดทรายขาวสะอาดอย่างสนุกสนาน ท่ามกลางแสงจันทร์วันเพ็ญสุกสกาว
          ส่วนหนุ่มสาวไทยก็นำลาบปากพอนแบบซอยซดใส่น้ำลวกปลา เพื่อซดคล่องคอ อาหารเด็ดของชาวเขมราฐใส่กาละมัง พร้อมด้วยอาหารอย่างอื่น และข้าวเหนียวไปร่วมกินข้าวกับหนุ่มสาวลาว ล้อมวงบนลานหิน โดยให้นั่งสลับกันระหว่างหนุ่มลาวกับสาวไทย และหนุ่มไทยกับสาวลาว เพื่อจะได้รินเหล้าเด็ดแจกกันรอบวง จอกที่ใส่เหล้าเด็ดไม่ใช่ถ้วยแก้ว แต่เป็นกะลามะพร้าวหลอด กันจอกแหลม วางจอกไม่ได้ต้องดื่มเหล้าในจอกให้หมดจึงรินใหม่ได้ ดื่มใหม่ๆ ก็ครึ้มๆ ดี เพราะมีสาวลาวป้อนจอกเหล้าเข้าปาก เราก็ป้อนจอกเหล้าเข้าปากสาวลาวด้วยเช่นกัน พอหนักเข้าหงายหลังไม่รู้ตัว เพราะเหล้าเด็ดกลั่นจากท่าประชุมฝั่งลาว ใสราวกับตาตั๊กกะแตน ดีกรีสูงมากชนิดจุดไฟติด สาเหตุจากเราถามสาวลาวว่า “ มีกับแกล้มอะไรกินกับเหล้าบ้าง ” สาวลาวก็เอาเนื้อเก้ง เนื้อกวางตากแห้งให้ดู เราถามว่า “ เนื้อแห้งยังดิบอยู่ จะกินได้ยังไง ” สาวเจ้าก็เอาเหล้าเด็ดเทลงบนแท่นหินเล็กๆ ข้างหน้าแล้วจุดไฟจี่ย่างเนื้อให้เรากินเดี๋ยวนั้น เล่นเอาหนุ่มไทยเข็ดขยาดไปตามๆ กันเพราะดื่มเหล้าเด็ดสู้สาวลาวไม่ได้ บางคนถึงกับ “ เหยียดคิ่งนิ่ง (นอนเหยียดยาวไม่ไหวติง) ไม่ฟื้นหลายวัน ”

"ผ้ากาบบัว" ทำไมไม่เรียกว่า "ผ้ากลีบบัว"


  "อุบลราชธานี" มีชื่อเสียงในด้านการทอผ้าพื้นเมือง มาช้านาน จากวรรณกรรมอีสานและประวัติศาสตร์เมือง อุบลฯ ได้ปรากฏให้เห็นเด่นชัด ถึงความประณีตสวยงาม อันเป็นเอกลักษณ์ของผ้าเมืองอุบลฯ ที่ภูมิปัญญาผู้ทอผ้า ได้บรรจงรังสรรค์ด้วยจิตวิญญาณ ออกมาเป็นลวดลายวิจิตรเฉพาะตัว ไม่เหมือนใคร ทำให้ได้รับการชมเชย จาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้ง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว ได้นำ ผ้าทอเมืองอุบลฯ ทูลเกล้าฯ ถวาย ปรากฏในพระราชหัตถเลขา ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ดังนี้
          กาลเวลาต่อมา 55 ปี ในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 ภูมิปัญญาผู้ทอผ้าเมืองอุบลฯ ได้ร่วมมือร่วมใจกัน ทอผ้าซิ่นไหมเงิน ยกดอกลายดอกพิกุล ทูลเกล้าฯ ถวายเนื่องในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2493 ในวโรกาลเสด็จฯ เยี่ยมพสกนิกรชาวอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 17พฤศจิกายน 2498 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าซิ่นไหมฯ ที่ชาวอุบลฯ ทูลเกล้าฯ ถวาย มีพระกระแสรับสั่งกับผู้เฝ้ารับเสด็จฯ ที่หน้าศาลากลางจังหวัดฯ ว่า "ชาวอุบลฯ เขาให้ผ้าซิ่นผืนนี้เป็นของขวัญวันอภิเษกสมรส เมื่อมาเยี่ยมอุบลฯ จึงนำมานุ่งให้คนอุบลฯ เขาดู" ชาวอุบลฯ ปลาบปลื้มปิติเป็นล้นพ้น เ
          เมื่อมีการประชุมพิจารณา "โครงการอนุรักษ์ผ้าทอเมืองอุบลฯ" โดยมี พระพรหมวชิรญาน เป็นประธาน ณ ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2546 องค์ประธานได้เล่าให้ที่ประชุมฟังว่า ในสมัยที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดธัมมาราม นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ มาที่วัดธัมมาราม ฉลองพระองค์ด้วยชุดผ้าไหมหางกระรอก มีพระกระแสรับสั่งกับพระพรหมวชิรญานและชาวอุบลฯ ที่เฝ้ารับเสด็จฯว่า "ผ้าไหมหางกระรอกที่ตัดชุดนี้ เป็นผ้าทอจากจังหวัดอุบลราชธานี ฝีมือละเอียด เรียบร้อยสวยงามมาก" ชาวอุบลฯ ปลาบปลื้มใจที่ผ้าทอเมืองอุบลฯ เป็นที่พอพระราชหฤทัยของสมเด็จฯ และทรงชมเชยให้ชาวอุบลฯ ได้ชื่นชม นับว่าผ้าทอเมืองอุบลฯ เป็นที่โปรดปรานถึงสองรัชกาล ก่อเกิดความภาคภูมิใจแก่ชาวอุบลฯ ตลอดมา แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่ผ้าทอเมืองอุบลฯ ได้ถูกลีมเลือนไปตามกาลเวลา
          ต่อมาโครงการสืบสานผ้าไทยสายใยเมืองอุบลฯ ได้เกิดขึ้น เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรม อันล้ำค่าของเมืองอุบลฯ โดย นายศิวะ แสงมณี รองปลัดกระทรวงมหาดไทย สมัยที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้มอบหมายให้คณะทำงาน พิจารณาฟื้นฟูลายผ้าพื้นเมืองในอดีตที่สวยงาม จนได้ลายผ้ามีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ชื่อว่า "ผ้ากาบบัว" พร้อมกับมีประกาศผ้ากาบบัวเป็นลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัด เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2543
          ผ้ากาบบัว เป็นชื่อผ้าในวรรณกรรมโบราณอีสาน ซึ่งไม่อาจทราบหรือพบในปัจจุบันแล้ว ชื่อผ้ากาบบัว มีความหมายเหมาะสมสอดคล้องกับชื่อของจังหวัดอุบลราชธานี ผ้ากาบบัว อาจทอด้วยฝ้ายหรือไหม ประกอบด้วย เส้นยืน (Warh) ย้อมอย่างน้อยสองสีเป็นริ้ว ตามลักษณะ "ซิ่นทิว" ซึ่งมีความนิยมแพร่หลายแถบอุบลฯ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังทอพุ่ง (Weft) ด้วยไหมสี มับไม (ไหมปั่นเกลียวหางกระรอก) มัดหมี่และขิด

เสด็จฯ หน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อทรงเยี่ยมราษฎร ที่รอเฝ้าก่อนเช้าตรู่ 17 พ.ย.2498 สมเด็จฯ ฉลองพระองค์ด้วย "ผ้าซิ่นไหมเงินยกดอก ลายพิกุล" ที่ชาวอุบลฯ ทูลเกล้าถวาย
          ผ้ากาบบัว (คำ)
          เพื่อเชิดชูเกียรติภูมิของเมืองอุบล สืบเนื่องมาแต่พระราชหัดถเลขา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ซึ่งได้ทรงชมเชยผ้าเยียรบับ (ผ้ายกทอง) ที่ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายจากกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ว่า "ทอดีมาก เชียงใหม่สู้ไม่ได้เลย" จึงสมควรจะรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้ทรงยกย่องชมเชยผ้าเมืองอุบล ด้วยการส่งเสริมให้มีการทอผ้ากาบบัวคำนี้ ทอด้วยเทคนิดขิดหรือยกด้วยไหมคำ (หรือดิ้นทอง) อาจแทรกผสมด้วยมัดหมี่ เทคนิคจกหรือเกาะด้วยไหมสีต่างๆ ลงบนผืนผ้าเพื่อสะท้อนให้เห็นการสั่งสมทางวัฒนธรรมอันงดงามให้ยาวนานสืบไป
          ผ้ากาบบัวที่กำลังถักทอในท้องที่ต่างๆ ของเมืองอุบล ยังได้รับการรณรงค์ส่งเสริมจากทุกหน่วยงาน และสนับสนุนโดยชาวอุบลในขณะนี้ ก็คือตัวแทนของผ้าเมืองอุบล อันมีรูปลักษณ์และจิตวิญญาณ ผสมผสานกับความภาคภูมิในเกียรติภูมิของวัฒนธรรมท้องถิ่น ยิ่งเมื่อมีการใช้สอยผ้ากาบบัวโดยชาวอุบล ก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงการช่วยเหลือเกื้อกูลในท้องถิ่น เพราะเกิดการสร้างงานอาชีพ
          อนึ่ง การรวบรวมหลายเทคนิควิธีการทอในผืนผ้า ย่อมเกิดประโยชน์ในการฝึกฝนทักษะการทอ เกิดพื้นฐาน เกิดพัฒนาการทางฝีมือให้ดียิ่งขึ้นไปในที่สุด
          เมื่อพิจารณาจากสี เริ่มจากขาวอันพิสุทธิ์ของกลีบดอกหรือกาบบัว สีอาจไล่แปรเปลี่ยนเป็นสีชมพู เขียวจาง ทองอ่อน เทาขี้ม้า ไปจนถึงน้ำตาลไหม้ แสดงลักษณะทางธรรมชาติที่สอดคล้องกับการใช้สีทุกยุคทุกสมัย ปรับไปใช้ได้กับทุกเพศทุกวัย ผ้ากาบบัวของชาวอุบลนี้ จึงไม่ควรเป็นแต่เพียงผ้าที่สมมุติให้แทนเอกลักษณ์ หากแต่เป็นจุดเริ่มของพลังรักในท้องถิ่น ที่แสดงถึงความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อเกียรติภูมิของกลุ่มชนชาวอุบล
          ในขณะที่ "ผ้ากาบบัว" กำลังเป็นที่นิยมแพร่หลายไปทั่วประเทศและต่างประเทศ เพราะเป็นผ้าเอนกประสงค์ ใช้ได้ทุกเพศทุกวัย ใช้เป็นผ้าม่าน ผ้าปูโต๊ะ ผ้าประดับตกแต่งที่มีคุณค่าทางศิลปะ (ไม่มีข้อจำกัดเหมือนผ้าทอพื้นเมืองบางชนิด ที่ใช้ได้เฉพาะกรณี เช่น เป็นผ้าสะใบเฉียง ผ้าคาดเอว หรือใช้ได้เฉพาะสตรีเท่านั้น) แม้แต่คณะรัฐมนตรี ก็สวมใส่ "ผ้ากาบบัว" โดยทั่วหน้า
          ที่น่าภาคภูมิใจก็คือว่า เจ้าชายอากิชิโน พระราชโอรสสมเด็จพระจักพรรดิญี่ปุ่น ที่เสด็จฯ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อไม่นานมานี้ ก็ฉลองพระองค์ด้วย "ผ้ากาบบัว"
          สิ่งที่คาดไม่ถึงก็คือว่า คำว่า "ผ้ากาบบัว" มีผู้สงสัยในการตั้งชื่อ โดยมีโทรศัพท์จาก กทม. บอกว่าเป็นชาวอุบลฯ รับราชการเป็นอัยการ ที่สำนักอัยการสูงสุด เป็นผู้นิยมชมชอบผ้ากาบบัวเช่นเดียวกับชาวอุบลฯ ทั้งหลาย แต่ยังข้องใจว่า "ผ้ากาบบัว" ทำไมไม่เรียกว่า "ผ้ากลีบบัว" เพราะโดยสามัญสำนึกทั่วไป หรือแม้แต่พจนานุกรมฯ ก็ได้ไห้ความหมายของคำว่า "กลีบ" ไว้ว่า "ส่วนของดอกไม้ที่เรียงหรือช้อนกันเป็นชั้นๆ รอบเกสร" โดยนัยความหมายนี้ กลีบบัว ก็คือส่วนที่เรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ รอบเกสรดอกบัว ส่วนคำว่า "กาบ" ตามความเข้าใจตั้งแต่เด็กๆ มาแล้ว หมายถึง "กาบกล้วย" "กาบหมาก" หรือ "กาบมะพร้าว" ไม่ได้หมายถึง "กลีบดอกไม้" ที่มีความเห็นเช่นนี้ มิใช่จะโต้แย้งหรือคิดค้านแต่ประการใด เพียงแต่ใคร่ขอทราบเหตุผลในการตั้งชื่อ "ผ้ากาบบัว" เพื่อเผยแพร่ให้ผู้ ที่ยังสงสัยได้ทราบต่อไป
          เรื่องนีผู้เขียนเองก็ประสงค์จะทราบเช่นเดียวกัน ประกอบกับมีโทรศัพท์จากสมาคมชาวอุบลราชธานีใน กทม. ย้ำมาอีกว่า มีผู้สงสัยกันมาก ควรขยายความเรื่องนี้ให้ชัดเจน ผู้เขียนจึงได้ไปขอความกระจ่างกับ "ผู้รู้" หลายท่าน เช่น ร.ต.ต.หญิงสุดา งามนิล และพี่บำเพ็ญ ณ อุบล อดีตอัยการชั้นฏีกา ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญของคณะทำงาน "โครงการสืบสานผ้าไทยสายใยเมืองอุบลฯ" รวมทั้งเป็นผู้เสนอชื่อ "ผ้ากาบบัว" ให้เป็นชื่อเรียกผ้าเอกลักษณ์เมืองอุบลฯ
          พี่บำเพ็ญ ณ อุบล ได้เล่าความเป็นมาและเหตุผล พร้อมกับเอกสารข้อยุติของคณะทำงานเรื่องนี้ รวม 4 ข้อดังนี้
          ชื่อของผ้าเอกลักษณ์เมืองอุบล "ผ้ากาบบัว"
          เนื่องจากในการประชุมคณะทำงาน พิจารณาลายผ้าพื้นเมือง คุณพ่อบำเพ็ญ ณ อุบล ได้เสนอชื่อ ผ้ากาบบัว อันเป็นชื่อผ้าในวรรณกรรมโบราณอีสาน ซึ่งไม่อาจทราบหรือพบในยุคปัจจุบันแล้ว ให้เป็นชื่อเรียกผ้าเอกลักษณ์เมืองอุบล
          ชื่อ ผ้ากาบบัว ออกเสียงง่าย ไพเราะ และง่ายต่อการจำ
          ชื่อผ้ากาบบัว สอดคล้องกับความนิยมในเรื่องสีของยุคปัจจุบัน โดยจะเห็นได้ว่า ในการนำเสนอข่าวแฟชั่นของทุกปี จะต้องมีการนำเสนอสีแนวธรรมชาติ (Earth Tone) อยู่เสมอ สีของกาบบัว (ภาษาท้องถิ่น) หรือ กลีบบัว ซึ่งไล่อ่อนแก่จากขาว ชมพู เทา เขียว น้ำตาล อยู่ในความนิยมเสมอ และยังสอดคล้องกับการย้อมจากพืชพรรณธรรมชาติอีกด้วย
          ชื่อผ้ากาบบัว มีความหมายเหมาะสมกับชื่อจังหวัดอุบลราชธานี
          ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยกับเหตุผลข้างต้นทั้ง 4 ข้อ แต่เมื่อวิเคราะห์แล้ว น่าจะขยายความหมายของคำว่า "กาบ" และ "กลีบ" ให้ชัดแจ้งโดยปราศจากข้อสงสัยข้องใจใดๆ
          เมื่อดูความหมายของ "กาบ" ตามพจนานุกรมฯ อธิบายไว้ว่า "น. เปลือกหุ้มชั้นนอกของผลหรือดอก และของต้นไม้บางชนิด ลอกออกได้เป็นชั้นๆ เช่น กาบมะพร้าว กาบหมาก กาบกล้วย โดยปริยายหมายถึง สิ่งที่มีลักษณะเช่นนั้น" โดยนัยแห่งคำอธิบายตามพจนานุกรมนี้ "กาบบัว" จึงหมายถึง เปลือกหุ้มชั้นนอกของดอกบัว มิใช่กลีบบัวที่หุ้มรอบเกสรบัวที่อยู่ชั้นใน (หรือพูดง่ายๆ แบบชาวบ้านว่า กาบบัวคือกลีบบัวชั้นนอกสุดที่แก่จัดเกือบร่วงโรย)
          เมื่อเข้าใจความหมายของ กาบบัวแตกต่างจากกลีบบัว โดยชัดแจ้งแล้วเช่นนี้ เกิดมีข้จคิดเห็นที่สนับสนุนในการเรียกว่า "ผ้ากาบบัว" เนื่องจากว่า กาบบัว มีพื้นผิวเป็นเส้นทางตั้งขึ้นเด่นชัด สามารถนำมาเป็นตัวอย่างในการทอลายผ้าได้อย่างงดงาม ตรงข้ามกับกลีบบัว ยังไม่ปรากฏลายเกนนูน กาบบัว มีสีตามธรรมชาติชัดเจน สอดคล้องกับการย้อมจากพืชพรรณธรรมชาติ ให้ได้สีตามที่ต้องการ แต่กลีบบัว ยังไม่ปรากฏสีเด่นชัด
          ผ้ากาบบัว เป็นผ้าที่มีมาแต่โบราณในอุบลฯ จึงใช้ชื่อเดิม เพื่ออนุรักษ์ประวัติผ้าชนิดนี้ไว้มิให้เสื่อมสูญ ชื่อผ้ากาบบัว นอกจากมีความเหมาะสมกับชื่อจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว ยังมีความหมายถึงเชื้อสายบรรพบุรุษที่สืบเนื่องมาจาก "นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน" อีกด้วย
          ข้อคิดเห็นที่สนับสนุนเหตุผลในการเรียกว่า "ผ้ากาบบัว" ข้อ 1 และข้อ 2 เป็นหลักสำคัญของชื่อผ้ากาบบัว ข้อ 3 อนุมานเข้ากับเหตุผลข้อ 1 ได้ ข้อ 4 เสริมความหมายเหตุผลในข้อ 4 ส่วนเหตุผลตามข้อ 2 ที่ว่า ชื่อผ้ากาบบัว ออกเสียงง่าย ไพเราะ และง่ายต่อการจำ นั้น ขอเสริมเพิ่มคำว่า "ผ้ากาบบัว" ยังแสดงออกถึงงามคำ งามความ และ งามตา อีกด้วย
          สรุปได้ว่า "การที่เรียกชื่อผ้าเอกลักษณ์เมืองอุบลฯ ว่า "ผ้ากาบบัว" เนื่องจากมีเหตุผล ประกอบกับข้อคิดเห็นและความหมายในตัวเองชัดเจน จะเป็น "ผ้ากลีบบัว" ไม่ได้ด้วยประการฉะนี้
          หมายเหตุผู้เขียน ข้อมูลในการเรียบเรียงเรื่องนี้ ได้รับความร่วมมือจาก คุณวิสิษฐ์ มณีวรรณ สำนักงานจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งรวบรวมจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี และข้อเขียนของคุณมีชัย แต้สุจริยา แหล่งทอผ้า "บ้านคำปุน" (ผ้ากาบบัว สัญลักษณ์แห่งโรจน์เรือง เมืองศิลป์ ของอุบลราชธานี) และจากแหล่งอื่นๆ จึงขอขอบคุณทุกท่านที่ระบุนามมาทั้งหมดตั้งแต่ต้น ณ โอกาสนี้