วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ประเพณีสงกรานต์ไทย-ลาว แม่น้ำโขง

เดือนเมษาของทุกปี มีความหมายต่อคนไทยทั้งประเทศเพราะเป็นปีใหม่ของไทยในอดีตก่อนปีพ.ศ. 2484 ปัจจุบันความสำคัญยังมีอยู่ในเดือนนี้ คือการจัดงานสงกรานต์แล้วยังมี “ วันกตัญญู ” “ วันครอบครัว ” “ วันผู้สูงอายุแห่งชาติ ” และ “ วันเชงเม้ง ” อีกด้วย สงกรานต์เป็น “ ประเพณี ” ที่คนไทยใส่ใจสืบสานมานานแต่ครั้งโบราณโดยมิเสื่อมคลายในด้านการท่องเที่ยว ททท.ได้ใช้ประเพณีสงกรานต์เป็น “ จุดขาย ” ไปทั่วโลก เช่น “ สงกรานต์เชียงใหม่ ” มีชื่อเสียงเกริกไกรหลายสิบปี
          ในการสัมมนา เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทยครั้งใหญ่ที่ กทม. เมื่อ พ.ศ. 2528 จากผู้เข้าสัมมนาทุกสาขาอาชีพได้ข้อสรุปว่า “ จุดขายการท่องเที่ยวไทย ” ส่วนใหญ่ประกอบด้วย 4 ว. ได้แก่
          1.ว.วัง 2. ว.วัด 3. ว.วัฒนธรรมประเพณี 4. ว.วิวทิวทัศน์
          ด้วยเหตุนี้ ประเพณีสงกรานต์จึงเป็นจุดขายได้เป็นอย่างดี อุบลราชธานีมีประเพณีวัฒนธรรมเป็นจุดขายไปทั่วโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 ที่ทราบกันดี คือ ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา นอกจากนี้ยังมีจุดขายตามข้อ 2, 3, 4 อีกจำนวนมาก สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึง ก็คือ การส่งเสริมสนับสนุนที่ถูกหลักวิชาการ
          ทางด้านผู้บริหารบ้านเมือง ในท้องที่ซึ่งมีทรัพยากรการท่องเที่ยวทั้ง 4 ว. ต่างก็จัดกิจกรรมสนับสนุนส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวกันอย่างเต็มที่เพื่อให้แพร่หลายติดตลาด เป็นการสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นในยุควิกฤติเศรษฐกิจยามนี้
          อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี มีหาดทรายแก่งหินที่เลื่องชื่อ กำลังได้รับการ Promote เพื่อเป้าหมายข้างต้น นาย ประศาสน์ ผลแก้ว นายอำเภอโพธิ์ไทร และคณะทำงานได้ให้ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวแห่งสำคัญดังนี้
ประวัติการเล่นน้ำสงกรานต์ ตามลำน้ำโขง
          ในอดีตดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (ประเทศลาว-ปัจจุบัน) มีเทศกาลที่ถือปฏิบัติเหมือนกัน คือ เทศกาลสงกานต์หรือ เทศกาลขึ้นปีใหม่ไทย-ลาว โดยถือช่วงประมาณกลางเดือน เมษายน ในระหว่างวันที่ 13-15 เป็นช่วงเดือนศก หรือขึ้นปีใหม่ โดยเฉพาะชาวลาวถือเป็นเทศกาลที่มีความสำคัญ มีการเล่นน้ำ รดน้ำดำหัว จนถึงปลายเดือนเมษายน
          เนื่องจากประเทศไทยและลาว ในอดีตมีความสัมพันธ์ทางด้านดีมาตลอดและผนวกกับประชาชนทั้งสองประเทศตามแนวชายแดนมีความสัมพันธ์กันเป็นการส่วนตัว เช่น การประกอบอาชีพ การสมาส ดังนั้นประเพณีสงกรานต์ของประชาชนทั้งสองประเทศจึงถูกเชื่อมโยงมาอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้จากในแต่ละปีไทย-ลาว จะจัดประเพณีสงกรานต์ ร่วมกันคลอดแนวลำน้ำโขงเช่น เชียงราย เชียงขอน ปากชม หนองคาย มุกดาหาร อุบลราชธานี อำเภอโพธิ์ไทร ตำบลสองคอน
การติดต่อสัมพันธ์กับประเทศลาว
          ในอดีตการติดต่อสัมพันธ์กับประเทศลาว ส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อขายและแลกเปลี่ยนสินค้า โดยประชาชนทั้งสองประเทศจะนำสินค้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนตลอดแนวชาวแดน โดยใช้เงินบาทแลกเงินกีบ สินค้าจากลาวส่วนมากเป็นของป่า พืชผลทางการเกษตร สินค้าของไทย ได้แก่เครื่องนุ่นห่ม เครื่องอุปโภคบริโภค เนื่องจากในอดีต เส้นทางการคมนาคมจากลาวไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่สะดวกที่สุด คือ เส้นทางที่ติดต่อกับประเทศไทย
          ปัจจุบัน การติดต่อสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศลาว หลังประเทศลาวเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไทยลาวมีการติดต่อสัมพันธ์ทางการค้ามีความเป็นระบบมากยิ่งขึ้น มีด่านศุลกากร ด่านตรวจคนเข้าเมือง และมีการเชื่อมเส้นทางการค้า เช่น ทางมิตรภาพไทยลาว-หนองคาย ด่านช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี ตลาดอินโดจีน มุกดาหาร
การอนุรักษ์ประเพณีขึ้นปีใหม่-ไทยลาว
          องค์การบริหารส่วนตำบลสองคอน ได้จัดกิจกรรมอนุรักษ์ประเพณีขึ้นปีใหม่ไทย-ลาว ที่สืบทอดการเล่นน้ำหาดสลึงซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยไทย-ลาว เป็นประเทศเดียวกัน โดยจัดเป็นงานประเพณีสงกรานต์หาดสลึงมาทุกปี งานจัดระหว่างวันที่ 9-15 เมษายน

ส่วนหนึ่งของ หาดสลึง และแก่งหินในแม่น้ำโขงที่ ต.สองคอน อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลฯ
ประเพณีสงกรานต์หาดสลึง

          หาดสลึง เป็นหาดทรายที่ทอดยาวจากปากห้วยกะหลาง ที่ไหลตกแม่น้ำโลงบ้านกะหลาง หมู่ที่ 6 ตำบลสองคอน อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี หาดแห่งนี้มีความยาวประมาณ 700- 800 เมตร เป็นสถานที่พักผ่อนเล่นน้ำของชาวอำเภอโพธิ์-ไทร และนักท่องเที่ยวทั่วไปน้ำบริเวณหาดไม่ลึก และไหลเอื่อย นักท่องเที่ยวสามารถมาเล่นน้ำได้อย่างสบาย ภูมิทัศน์บริเวณหาดสลึง สวยงามมากถ้ามองจากจุดชมวิวทั้ง 2 หมู่บ้าน คือ บ้านสองคอน และบ้านปากกะหลาง นักท่องเที่ยวสามารถชมความงดงามของหาดสลึงได้ตั้งแต่ กลางเดือนมกราคม ถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี จาการมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเล่นน้ำ โดยเฉพาะในช่วงสงกรานต์ถึงปีละประมาณ 20,000 คน หาดแห่งนี้ได้รับการขนานนามจากนักท่องเที่ยวว่าเป็น “ พัทยาแห่งโพธิ์ไทร ”
ประวัติความเป็นมาของชื่อหาด
          ชื่อหาดสลึง เกิดจาการที่คนมาเล่นน้ำช่วงสงกรานต์สมัยที่ใช้เหรียญสลึง 1 สลึงสมัยนั้นมีค่าสามารถซื้อควายได้ 1 ตัว ตามนิสัยของคนไทยบางคนเมื่อมารวมกันมาก มักจะมีการพนันเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ ผู้ที่มาเล่นน้ำที่หาดแห่งนี้ได้ตั้งคำท้าทายความสามรถโดยมีเดิมพันว่า ณ กลางเดือนหน้า (เมษายน) เวลาเที่ยงวันถ้าใครสามารถเดินหรือวิ่งบนหาดได้ตลอดแนวโดยไม่แวะพักระหว่างวิ่ง จะได้รับเงินเดิมพัน 1 สลึง นับตั้งแต่มีการเดิมพันมาไม่เคยมีใครได้รับรางวัลนี้เลย ชาวบ้านจึงขนานนามหาดแห่งนี้ว่า หาดสลึง
          รวบรวมประวัติ : นาย เรืองประทิน เขียวสด อ.2 ระดับ 7 โรงเรียนบ้านสองคอน นาย สมหมาย โสสิงห์ ประธานกรรมการบริหาร อบต.สองคอน และคณะ
          หมายเหตุของผู้เขียน หาดแห่งนี้มีนามเรียกขานว่า “ หาดสลึง ” มาแต่ดั้งเดิมมานานแล้ว เป็นชื่อที่แปลกและน่าสนใจ ขอร้องอย่าให้มีใครมาตั้งชื่อใหม่ โดยเพิ่มค่าของเงินสลึงเป็น หาดสอง... หาดสาม... หาดสี่สลึง ช่วยกันรักษาชื่อเดิมไว้ตลอดไปนะครับ
          เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวแห่งสำคัญของอำเภอโพธิ์ไทรให้แพร่หลายกว้างขวางยิ่งขึ้น ผู้เขียนจึงได้ข้อมูลข้างต้นพร้อมกับเผยแพร่งาน “ เทศกาลตักปลาที่โพธิ์ไทร ” จากความร่วมมือของคุณ อดิศร เจริญอริยทรัพย์ ศึกษาธิการอำเภอโพธิ์ไทรโดยเขียนบทความสารคดีการท่องเที่ยว เพื่อลงในอนุสาร อ.ส.ท. ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งมีสถิติจำนวนพิมพ์ 70,000 ฉบับ แพร่หลายไปทั่วไทยและทั่วโลก พร้อมกับภาพถ่ายประกอบอย่างชัดเจนแจ่มแจ๋ว ฝีมือของคุณวรรวิมล ดั่นประดิษฐ์ หัวหน้าฝ่ายข้อมูลและติดตามผลสำนักงานจังหวัดอุบลราชธานี (ผู้รักการถ่ายภาพเป็นงานอดิเรกเช่นเดียวกับงานอาชีพ) ดังต่อไปนี้

แม่น้ำโขงในหน้าแล้ง แก่งหินสวยงาม มี ปากบ้อง อยู่กลาง ระยะทางเพียง 56 กิโลเมตร
ชมหาดทรายและการตักปลาที่โพธิ์ไทร
          การท่องเที่ยวทางน้ำในเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อชมทัศนียภาพและวิถีชีวิตพื้นบ้าน ชมการประมงแบบดั้งเดิมที่น่าสนใจ ณ ตำบลสองคอน อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี ท้องถิ่นแห่งนี้มีแม่น้ำโขงเป็นสายเลือดใหญ่ในการดำรงชีวิต พอย่างเข้าหน้าแล้งสายน้ำจะลดลง แก่งหินหาดทรายจะโผล่ปรากฏเต็มไปหมดทั้งบริเวณ หาดทรายแห่งนี้ชาวบ้านเรียกว่า “ หาดสลึง ” มีความยาวถึง 700- 800 เมตร นักท่องเที่ยวและชาวบ้านขนานนามว่า “ พัทยาแห่งโพธิ์ไทร ” ช่วงสงกรานต์มีคนไปเที่ยวจำนวนหนึ่งส่วนแก่งหินนั้นจะแปลกกว่าที่อื่นๆ เนื่องจากมีแก่งหินอยู่ 2 ข้าง ฝั่งแม่น้ำโขง มีร่องน้ำไหลฝ่านกลาง ภาษาถิ่นเรียกว่า “ ปากบ่อง ” ลักษณะเหมือนคอขวด ส่วนที่แคบที่สุดวัดได้ 56 เมตร พันคอขวด “ ปากบ่อง ” ออกไปเป็นเวินน้ำกว้างใหญ่ ที่เวินหรือเวิ้งน้ำนี้ชาวบ้านประกอบอาชีพด้วยการประมงแบบดั้งเดิมใช้อุปกรณ์พื้นบ้านเรียกว่า “ ตุ้ม ” และอุปกรณ์ประกอบอย่างอื่น หาปลาในน้ำโขง
          สิ่งที่นักท่องเที่ยวและคนต่างถิ่นตั้งใจมาดูเป็นพิเศษก็คือการ “ ตักปลา ” หน้าปากบ่อง เพราะเป็นการจับปลาที่แปลกประหลาดกว่าที่อื่นๆ ไม่ต้องใช้เหยื่อตกเบ็ด หรือทอดแหแต่ใช้สวิงขนาดใหญ่ด้ามยาวคล้ายสวิงตับแมลงคอยตักปลาที่ว่ายจากเวินน้ำกว้างจะแหวกว่ายผ่านปากบ่องทวนกระแสน้ำเพื่อขึ้นไปวางไข่ที่ต้นน้ำตามสัญชาติญาณของปลา นับว่าเป็นการหาปลาที่ง่ายกว่าวิธีอื่นๆ ทางอำเภอโพธิ์ไทรได้ร่วมกันจัดงาน “ เทศกาลตักปลา ” ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปี มีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเป็นจนวนมาก
          เมื่อท่องเที่ยวหาดทราย แก่งหิน ที่โพธิ์ไทรอย่างเต็มอิ่มและประทับความงามไว้อย่างเต็มตาแล้ว ก็มาเที่ยวงานสงกรานต์ที่มีประวัติยาวนานระหว่างไทย-ลาว ที่อำเภอเขมราฐกันบ้าง เขมราฐ เป็นเมืองเก่าแก่แต่โบราณ มีความรุ่งเรือง มีเจ้าเมืองครอบครอง ชาวเขมราฐมีเกียรติคุณสูงเด่นหลานท่าน
สงกรานต์กลางแม่น้ำโขงที่เขมราฐ
          การท่องเที่ยวทางน้ำในเดือนเมษายนที่นิยมกันไปเที่ยวกันมาก คือลำน้ำโขงในเขตท้องที่อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ตรงกันข้ามกับท่าประชุม ของ สปป.ลาว เนื่องจากช่วงกลางเดือนเมษายน มีประเพณีงานสงกรานต์ชาวบ้านจากฝั่งไทย และฝั่งลาวได้ร่วมกันจัดงานสงกรานต์ด้วยกันมานานแต่โบราณ ผู้เขียนได้ไปร่วมงานเมื่อปี พ.ศ. 2506 จัดงานที่แก่งหินหาดทราบกลางลำแม่น้ำโขง เพราะเป็นหน้าแล้ง สายน้ำเกือบแห้งมีไหลเฉพาะร่องน้ำลึกเท่านั้น
          งานประเพณีสงกรานต์ที่ชาวบ้านทั้ง 2 ฝั่งโขงกระทำกิจกรรมร่วมกันเป็นที่น่าศรัทธามาก โดยกำหนดเอาวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปีเป็น “ วันโฮม ” (วันรวม) เวลาบ่าย 3 โมง พระสงฆ์จะตีกลองโฮม ชาวบ้านจะนำน้ำอบ น้ำหอมลอยดอกไม้ป่ากลิ่นหอม เช่น กรันเกรา (ดอกมันปลา) ใส่ครุไม้มารวมกันบ้านละ 1 หาบ ที่ผาม (ปะรำ) ทำด้วยไม่ไผ่มุงด้วยใบตาล บนเกาะแก่งกลางน้ำโขง เมื่อชาวบ้านรวมกันพร้อมแล้ว ก็ตีระฆังให้พระสงฆ์มาร่วมพิธีสรงน้ำพระพุทธรูป ที่พระสงฆ์และชาวบ้านอัญเชิญมา แล้วสรงน้ำพระเณรทุกรูป ชาวบ้านทั้ง 2 ฝั่ง ต่างก็รดน้ำอวยพรซึ่งกันและกัน เด็กๆ ฉีดน้ำเล่นกันด้วย “ บั้งเดี๊ยก ” (คือกระบอกฉีดน้ำทำด้วยไม้ไผ่) พอตกเย็นพระสงฆ์ก็สวดมนต์เย็น 3 วันติดต่อกัน แต่ละวันมีการก่อเจดีย์ทรายที่หาดทรายริมแก่ง เมื่อเสร็จพิธีทางศาสนาชาวบ้านมีการละเล่นกีฬาพื้นบ้านบนหาดทรายขาวสะอาดอย่างสนุกสนาน ท่ามกลางแสงจันทร์วันเพ็ญสุกสกาว
          ส่วนหนุ่มสาวไทยก็นำลาบปากพอนแบบซอยซดใส่น้ำลวกปลา เพื่อซดคล่องคอ อาหารเด็ดของชาวเขมราฐใส่กาละมัง พร้อมด้วยอาหารอย่างอื่น และข้าวเหนียวไปร่วมกินข้าวกับหนุ่มสาวลาว ล้อมวงบนลานหิน โดยให้นั่งสลับกันระหว่างหนุ่มลาวกับสาวไทย และหนุ่มไทยกับสาวลาว เพื่อจะได้รินเหล้าเด็ดแจกกันรอบวง จอกที่ใส่เหล้าเด็ดไม่ใช่ถ้วยแก้ว แต่เป็นกะลามะพร้าวหลอด กันจอกแหลม วางจอกไม่ได้ต้องดื่มเหล้าในจอกให้หมดจึงรินใหม่ได้ ดื่มใหม่ๆ ก็ครึ้มๆ ดี เพราะมีสาวลาวป้อนจอกเหล้าเข้าปาก เราก็ป้อนจอกเหล้าเข้าปากสาวลาวด้วยเช่นกัน พอหนักเข้าหงายหลังไม่รู้ตัว เพราะเหล้าเด็ดกลั่นจากท่าประชุมฝั่งลาว ใสราวกับตาตั๊กกะแตน ดีกรีสูงมากชนิดจุดไฟติด สาเหตุจากเราถามสาวลาวว่า “ มีกับแกล้มอะไรกินกับเหล้าบ้าง ” สาวลาวก็เอาเนื้อเก้ง เนื้อกวางตากแห้งให้ดู เราถามว่า “ เนื้อแห้งยังดิบอยู่ จะกินได้ยังไง ” สาวเจ้าก็เอาเหล้าเด็ดเทลงบนแท่นหินเล็กๆ ข้างหน้าแล้วจุดไฟจี่ย่างเนื้อให้เรากินเดี๋ยวนั้น เล่นเอาหนุ่มไทยเข็ดขยาดไปตามๆ กันเพราะดื่มเหล้าเด็ดสู้สาวลาวไม่ได้ บางคนถึงกับ “ เหยียดคิ่งนิ่ง (นอนเหยียดยาวไม่ไหวติง) ไม่ฟื้นหลายวัน ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น