วันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

"ผ้ากาบบัว" ทำไมไม่เรียกว่า "ผ้ากลีบบัว"


  "อุบลราชธานี" มีชื่อเสียงในด้านการทอผ้าพื้นเมือง มาช้านาน จากวรรณกรรมอีสานและประวัติศาสตร์เมือง อุบลฯ ได้ปรากฏให้เห็นเด่นชัด ถึงความประณีตสวยงาม อันเป็นเอกลักษณ์ของผ้าเมืองอุบลฯ ที่ภูมิปัญญาผู้ทอผ้า ได้บรรจงรังสรรค์ด้วยจิตวิญญาณ ออกมาเป็นลวดลายวิจิตรเฉพาะตัว ไม่เหมือนใคร ทำให้ได้รับการชมเชย จาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้ง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว ได้นำ ผ้าทอเมืองอุบลฯ ทูลเกล้าฯ ถวาย ปรากฏในพระราชหัตถเลขา ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ดังนี้
          กาลเวลาต่อมา 55 ปี ในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 ภูมิปัญญาผู้ทอผ้าเมืองอุบลฯ ได้ร่วมมือร่วมใจกัน ทอผ้าซิ่นไหมเงิน ยกดอกลายดอกพิกุล ทูลเกล้าฯ ถวายเนื่องในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2493 ในวโรกาลเสด็จฯ เยี่ยมพสกนิกรชาวอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 17พฤศจิกายน 2498 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าซิ่นไหมฯ ที่ชาวอุบลฯ ทูลเกล้าฯ ถวาย มีพระกระแสรับสั่งกับผู้เฝ้ารับเสด็จฯ ที่หน้าศาลากลางจังหวัดฯ ว่า "ชาวอุบลฯ เขาให้ผ้าซิ่นผืนนี้เป็นของขวัญวันอภิเษกสมรส เมื่อมาเยี่ยมอุบลฯ จึงนำมานุ่งให้คนอุบลฯ เขาดู" ชาวอุบลฯ ปลาบปลื้มปิติเป็นล้นพ้น เ
          เมื่อมีการประชุมพิจารณา "โครงการอนุรักษ์ผ้าทอเมืองอุบลฯ" โดยมี พระพรหมวชิรญาน เป็นประธาน ณ ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2546 องค์ประธานได้เล่าให้ที่ประชุมฟังว่า ในสมัยที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดธัมมาราม นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ มาที่วัดธัมมาราม ฉลองพระองค์ด้วยชุดผ้าไหมหางกระรอก มีพระกระแสรับสั่งกับพระพรหมวชิรญานและชาวอุบลฯ ที่เฝ้ารับเสด็จฯว่า "ผ้าไหมหางกระรอกที่ตัดชุดนี้ เป็นผ้าทอจากจังหวัดอุบลราชธานี ฝีมือละเอียด เรียบร้อยสวยงามมาก" ชาวอุบลฯ ปลาบปลื้มใจที่ผ้าทอเมืองอุบลฯ เป็นที่พอพระราชหฤทัยของสมเด็จฯ และทรงชมเชยให้ชาวอุบลฯ ได้ชื่นชม นับว่าผ้าทอเมืองอุบลฯ เป็นที่โปรดปรานถึงสองรัชกาล ก่อเกิดความภาคภูมิใจแก่ชาวอุบลฯ ตลอดมา แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่ผ้าทอเมืองอุบลฯ ได้ถูกลีมเลือนไปตามกาลเวลา
          ต่อมาโครงการสืบสานผ้าไทยสายใยเมืองอุบลฯ ได้เกิดขึ้น เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรม อันล้ำค่าของเมืองอุบลฯ โดย นายศิวะ แสงมณี รองปลัดกระทรวงมหาดไทย สมัยที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้มอบหมายให้คณะทำงาน พิจารณาฟื้นฟูลายผ้าพื้นเมืองในอดีตที่สวยงาม จนได้ลายผ้ามีลักษณะเป็นเอกลักษณ์ชื่อว่า "ผ้ากาบบัว" พร้อมกับมีประกาศผ้ากาบบัวเป็นลายผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัด เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2543
          ผ้ากาบบัว เป็นชื่อผ้าในวรรณกรรมโบราณอีสาน ซึ่งไม่อาจทราบหรือพบในปัจจุบันแล้ว ชื่อผ้ากาบบัว มีความหมายเหมาะสมสอดคล้องกับชื่อของจังหวัดอุบลราชธานี ผ้ากาบบัว อาจทอด้วยฝ้ายหรือไหม ประกอบด้วย เส้นยืน (Warh) ย้อมอย่างน้อยสองสีเป็นริ้ว ตามลักษณะ "ซิ่นทิว" ซึ่งมีความนิยมแพร่หลายแถบอุบลฯ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังทอพุ่ง (Weft) ด้วยไหมสี มับไม (ไหมปั่นเกลียวหางกระรอก) มัดหมี่และขิด

เสด็จฯ หน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อทรงเยี่ยมราษฎร ที่รอเฝ้าก่อนเช้าตรู่ 17 พ.ย.2498 สมเด็จฯ ฉลองพระองค์ด้วย "ผ้าซิ่นไหมเงินยกดอก ลายพิกุล" ที่ชาวอุบลฯ ทูลเกล้าถวาย
          ผ้ากาบบัว (คำ)
          เพื่อเชิดชูเกียรติภูมิของเมืองอุบล สืบเนื่องมาแต่พระราชหัดถเลขา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ซึ่งได้ทรงชมเชยผ้าเยียรบับ (ผ้ายกทอง) ที่ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายจากกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ว่า "ทอดีมาก เชียงใหม่สู้ไม่ได้เลย" จึงสมควรจะรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้ทรงยกย่องชมเชยผ้าเมืองอุบล ด้วยการส่งเสริมให้มีการทอผ้ากาบบัวคำนี้ ทอด้วยเทคนิดขิดหรือยกด้วยไหมคำ (หรือดิ้นทอง) อาจแทรกผสมด้วยมัดหมี่ เทคนิคจกหรือเกาะด้วยไหมสีต่างๆ ลงบนผืนผ้าเพื่อสะท้อนให้เห็นการสั่งสมทางวัฒนธรรมอันงดงามให้ยาวนานสืบไป
          ผ้ากาบบัวที่กำลังถักทอในท้องที่ต่างๆ ของเมืองอุบล ยังได้รับการรณรงค์ส่งเสริมจากทุกหน่วยงาน และสนับสนุนโดยชาวอุบลในขณะนี้ ก็คือตัวแทนของผ้าเมืองอุบล อันมีรูปลักษณ์และจิตวิญญาณ ผสมผสานกับความภาคภูมิในเกียรติภูมิของวัฒนธรรมท้องถิ่น ยิ่งเมื่อมีการใช้สอยผ้ากาบบัวโดยชาวอุบล ก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงการช่วยเหลือเกื้อกูลในท้องถิ่น เพราะเกิดการสร้างงานอาชีพ
          อนึ่ง การรวบรวมหลายเทคนิควิธีการทอในผืนผ้า ย่อมเกิดประโยชน์ในการฝึกฝนทักษะการทอ เกิดพื้นฐาน เกิดพัฒนาการทางฝีมือให้ดียิ่งขึ้นไปในที่สุด
          เมื่อพิจารณาจากสี เริ่มจากขาวอันพิสุทธิ์ของกลีบดอกหรือกาบบัว สีอาจไล่แปรเปลี่ยนเป็นสีชมพู เขียวจาง ทองอ่อน เทาขี้ม้า ไปจนถึงน้ำตาลไหม้ แสดงลักษณะทางธรรมชาติที่สอดคล้องกับการใช้สีทุกยุคทุกสมัย ปรับไปใช้ได้กับทุกเพศทุกวัย ผ้ากาบบัวของชาวอุบลนี้ จึงไม่ควรเป็นแต่เพียงผ้าที่สมมุติให้แทนเอกลักษณ์ หากแต่เป็นจุดเริ่มของพลังรักในท้องถิ่น ที่แสดงถึงความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อเกียรติภูมิของกลุ่มชนชาวอุบล
          ในขณะที่ "ผ้ากาบบัว" กำลังเป็นที่นิยมแพร่หลายไปทั่วประเทศและต่างประเทศ เพราะเป็นผ้าเอนกประสงค์ ใช้ได้ทุกเพศทุกวัย ใช้เป็นผ้าม่าน ผ้าปูโต๊ะ ผ้าประดับตกแต่งที่มีคุณค่าทางศิลปะ (ไม่มีข้อจำกัดเหมือนผ้าทอพื้นเมืองบางชนิด ที่ใช้ได้เฉพาะกรณี เช่น เป็นผ้าสะใบเฉียง ผ้าคาดเอว หรือใช้ได้เฉพาะสตรีเท่านั้น) แม้แต่คณะรัฐมนตรี ก็สวมใส่ "ผ้ากาบบัว" โดยทั่วหน้า
          ที่น่าภาคภูมิใจก็คือว่า เจ้าชายอากิชิโน พระราชโอรสสมเด็จพระจักพรรดิญี่ปุ่น ที่เสด็จฯ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อไม่นานมานี้ ก็ฉลองพระองค์ด้วย "ผ้ากาบบัว"
          สิ่งที่คาดไม่ถึงก็คือว่า คำว่า "ผ้ากาบบัว" มีผู้สงสัยในการตั้งชื่อ โดยมีโทรศัพท์จาก กทม. บอกว่าเป็นชาวอุบลฯ รับราชการเป็นอัยการ ที่สำนักอัยการสูงสุด เป็นผู้นิยมชมชอบผ้ากาบบัวเช่นเดียวกับชาวอุบลฯ ทั้งหลาย แต่ยังข้องใจว่า "ผ้ากาบบัว" ทำไมไม่เรียกว่า "ผ้ากลีบบัว" เพราะโดยสามัญสำนึกทั่วไป หรือแม้แต่พจนานุกรมฯ ก็ได้ไห้ความหมายของคำว่า "กลีบ" ไว้ว่า "ส่วนของดอกไม้ที่เรียงหรือช้อนกันเป็นชั้นๆ รอบเกสร" โดยนัยความหมายนี้ กลีบบัว ก็คือส่วนที่เรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ รอบเกสรดอกบัว ส่วนคำว่า "กาบ" ตามความเข้าใจตั้งแต่เด็กๆ มาแล้ว หมายถึง "กาบกล้วย" "กาบหมาก" หรือ "กาบมะพร้าว" ไม่ได้หมายถึง "กลีบดอกไม้" ที่มีความเห็นเช่นนี้ มิใช่จะโต้แย้งหรือคิดค้านแต่ประการใด เพียงแต่ใคร่ขอทราบเหตุผลในการตั้งชื่อ "ผ้ากาบบัว" เพื่อเผยแพร่ให้ผู้ ที่ยังสงสัยได้ทราบต่อไป
          เรื่องนีผู้เขียนเองก็ประสงค์จะทราบเช่นเดียวกัน ประกอบกับมีโทรศัพท์จากสมาคมชาวอุบลราชธานีใน กทม. ย้ำมาอีกว่า มีผู้สงสัยกันมาก ควรขยายความเรื่องนี้ให้ชัดเจน ผู้เขียนจึงได้ไปขอความกระจ่างกับ "ผู้รู้" หลายท่าน เช่น ร.ต.ต.หญิงสุดา งามนิล และพี่บำเพ็ญ ณ อุบล อดีตอัยการชั้นฏีกา ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญของคณะทำงาน "โครงการสืบสานผ้าไทยสายใยเมืองอุบลฯ" รวมทั้งเป็นผู้เสนอชื่อ "ผ้ากาบบัว" ให้เป็นชื่อเรียกผ้าเอกลักษณ์เมืองอุบลฯ
          พี่บำเพ็ญ ณ อุบล ได้เล่าความเป็นมาและเหตุผล พร้อมกับเอกสารข้อยุติของคณะทำงานเรื่องนี้ รวม 4 ข้อดังนี้
          ชื่อของผ้าเอกลักษณ์เมืองอุบล "ผ้ากาบบัว"
          เนื่องจากในการประชุมคณะทำงาน พิจารณาลายผ้าพื้นเมือง คุณพ่อบำเพ็ญ ณ อุบล ได้เสนอชื่อ ผ้ากาบบัว อันเป็นชื่อผ้าในวรรณกรรมโบราณอีสาน ซึ่งไม่อาจทราบหรือพบในยุคปัจจุบันแล้ว ให้เป็นชื่อเรียกผ้าเอกลักษณ์เมืองอุบล
          ชื่อ ผ้ากาบบัว ออกเสียงง่าย ไพเราะ และง่ายต่อการจำ
          ชื่อผ้ากาบบัว สอดคล้องกับความนิยมในเรื่องสีของยุคปัจจุบัน โดยจะเห็นได้ว่า ในการนำเสนอข่าวแฟชั่นของทุกปี จะต้องมีการนำเสนอสีแนวธรรมชาติ (Earth Tone) อยู่เสมอ สีของกาบบัว (ภาษาท้องถิ่น) หรือ กลีบบัว ซึ่งไล่อ่อนแก่จากขาว ชมพู เทา เขียว น้ำตาล อยู่ในความนิยมเสมอ และยังสอดคล้องกับการย้อมจากพืชพรรณธรรมชาติอีกด้วย
          ชื่อผ้ากาบบัว มีความหมายเหมาะสมกับชื่อจังหวัดอุบลราชธานี
          ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยกับเหตุผลข้างต้นทั้ง 4 ข้อ แต่เมื่อวิเคราะห์แล้ว น่าจะขยายความหมายของคำว่า "กาบ" และ "กลีบ" ให้ชัดแจ้งโดยปราศจากข้อสงสัยข้องใจใดๆ
          เมื่อดูความหมายของ "กาบ" ตามพจนานุกรมฯ อธิบายไว้ว่า "น. เปลือกหุ้มชั้นนอกของผลหรือดอก และของต้นไม้บางชนิด ลอกออกได้เป็นชั้นๆ เช่น กาบมะพร้าว กาบหมาก กาบกล้วย โดยปริยายหมายถึง สิ่งที่มีลักษณะเช่นนั้น" โดยนัยแห่งคำอธิบายตามพจนานุกรมนี้ "กาบบัว" จึงหมายถึง เปลือกหุ้มชั้นนอกของดอกบัว มิใช่กลีบบัวที่หุ้มรอบเกสรบัวที่อยู่ชั้นใน (หรือพูดง่ายๆ แบบชาวบ้านว่า กาบบัวคือกลีบบัวชั้นนอกสุดที่แก่จัดเกือบร่วงโรย)
          เมื่อเข้าใจความหมายของ กาบบัวแตกต่างจากกลีบบัว โดยชัดแจ้งแล้วเช่นนี้ เกิดมีข้จคิดเห็นที่สนับสนุนในการเรียกว่า "ผ้ากาบบัว" เนื่องจากว่า กาบบัว มีพื้นผิวเป็นเส้นทางตั้งขึ้นเด่นชัด สามารถนำมาเป็นตัวอย่างในการทอลายผ้าได้อย่างงดงาม ตรงข้ามกับกลีบบัว ยังไม่ปรากฏลายเกนนูน กาบบัว มีสีตามธรรมชาติชัดเจน สอดคล้องกับการย้อมจากพืชพรรณธรรมชาติ ให้ได้สีตามที่ต้องการ แต่กลีบบัว ยังไม่ปรากฏสีเด่นชัด
          ผ้ากาบบัว เป็นผ้าที่มีมาแต่โบราณในอุบลฯ จึงใช้ชื่อเดิม เพื่ออนุรักษ์ประวัติผ้าชนิดนี้ไว้มิให้เสื่อมสูญ ชื่อผ้ากาบบัว นอกจากมีความเหมาะสมกับชื่อจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว ยังมีความหมายถึงเชื้อสายบรรพบุรุษที่สืบเนื่องมาจาก "นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน" อีกด้วย
          ข้อคิดเห็นที่สนับสนุนเหตุผลในการเรียกว่า "ผ้ากาบบัว" ข้อ 1 และข้อ 2 เป็นหลักสำคัญของชื่อผ้ากาบบัว ข้อ 3 อนุมานเข้ากับเหตุผลข้อ 1 ได้ ข้อ 4 เสริมความหมายเหตุผลในข้อ 4 ส่วนเหตุผลตามข้อ 2 ที่ว่า ชื่อผ้ากาบบัว ออกเสียงง่าย ไพเราะ และง่ายต่อการจำ นั้น ขอเสริมเพิ่มคำว่า "ผ้ากาบบัว" ยังแสดงออกถึงงามคำ งามความ และ งามตา อีกด้วย
          สรุปได้ว่า "การที่เรียกชื่อผ้าเอกลักษณ์เมืองอุบลฯ ว่า "ผ้ากาบบัว" เนื่องจากมีเหตุผล ประกอบกับข้อคิดเห็นและความหมายในตัวเองชัดเจน จะเป็น "ผ้ากลีบบัว" ไม่ได้ด้วยประการฉะนี้
          หมายเหตุผู้เขียน ข้อมูลในการเรียบเรียงเรื่องนี้ ได้รับความร่วมมือจาก คุณวิสิษฐ์ มณีวรรณ สำนักงานจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งรวบรวมจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี และข้อเขียนของคุณมีชัย แต้สุจริยา แหล่งทอผ้า "บ้านคำปุน" (ผ้ากาบบัว สัญลักษณ์แห่งโรจน์เรือง เมืองศิลป์ ของอุบลราชธานี) และจากแหล่งอื่นๆ จึงขอขอบคุณทุกท่านที่ระบุนามมาทั้งหมดตั้งแต่ต้น ณ โอกาสนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น