วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

กางแผนสยายปีกดุสิตอินเตอร์ฯ

ดุสิตอินเตอร์เนชั่นแนล เดินแผน 5 ปีเพิ่มเครือทั่วโลก 50 แห่ง ปักธงเข้าจีน 5 พันห้อง ไม่รวมการมองโอกาสที่จะลงทุนสร้างเอง หลังล่าสุดร่วมทุนจีนตั้งบริษัทรับบริหาร คาดอีก 10 ปีจำนวนโรงแรมเครือดุสิตในจีนจะมีขนาดใหญ่กว่าธุรกิจในไทย 

พร้อมดันกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดุสิตธานี เป็นหัวหอกขยายพอร์ตโรงแรมใหม่ในประเทศ ทั้งเตรียมบริหารโรงแรมใหม่ที่เขาใหญ่ของตระกูลวิไลลักษณ์
นายชนินทธ์ โทณวณิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าทิศทางการดำเนินธุรกิจของดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนลในช่วง 5 ปีข้างหน้า ได้เสนอแนวทางการเติบโตของบริษัทใหม่ให้แก่คณะกรรมการบริหารของบริษัทพิจารณาเห็นชอบแล้ว โดยจุดหลักจะเน้นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ควบคู่ไปกับการเพิ่มกำไรให้กับธุรกิจ
ดังนั้นภายใน 5 ปี จะมีการปรับสัดส่วนรายได้ของธุรกิจโรงแรม จากปัจจุบันที่มีรายได้หลักจากธุรกิจโรงแรมในประเทศไทยอยู่ที่ 80% และต่างประเทศ 20% มาเป็นการปรับสัดส่วนรายได้ให้อยู่ที่ 50:50 เนื่องจากในช่วงที่ประเทศไทยมีปัญหา อย่างการมายิงกันอยู่ที่หน้าโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯหรือความวุ่นวายต่างๆ ในไทย ที่ผ่านมาดุสิตจะกระทบมากกว่าคนอื่น เพราะดำเนินธุรกิจโรงแรมในระดับ 5 ดาวเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ต้องมีการปรับแผนให้สอดคล้องกับเป้าหมายการเพิ่มโรงแรมในเครือดุสิตรวมเป็น 50 แห่งทั่วโลก หรือเฉลี่ยมีการเติบโตปีละ 7-10 แห่ง
โดยเป้าหมายการขยายธุรกิจในต่างประเทศจะเน้นการรับบริหารโรงแรมเพิ่มขึ้น พร้อมๆกับมองโอกาสการเข้าไปลงทุนโรงแรมในเมืองที่มีศักยภาพ ในลักษณะเดียวกับการเข้าไปร่วมลงทุนโรงแรมในมัลดีฟส์ ส่วนในประเทศไทย จะเน้นขยายการลงทุนโรงแรมใหม่ในประเทศไทย โดยผ่านกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดุสิตธานีหรือกองทุนDTCPF เพราะถ้าในประเทศไทยเกิดมีปัญหาอะไร บริษัทก็จะไม่ได้รับผลกระทบไปทั้งหมด เพราะตามกฎหมายดุสิตถือหุ้นในกองทุนได้ไม่เกิน 33% ขณะเดียวกันยังเป็นโอกาสที่ผู้ถือหุ้นในกองทุนจะเข้ามาช่วยขยายการลงทุนโรงแรมใหม่ด้วย ทั้งนี้ดุสิตยังมีโอกาสที่จะลงทุนเพิ่มเติม เพื่อทำรายได้ให้แก่ผู้ถือหุ้นได้ เพราะปัจจุบันมีหนี้สินอยู่ที่ 0.4 ต่อ 1 เท่านั้น ซึ่งตนมองการลงทุนเพิ่มไม่ให้บริษัทมีหนี้สินเกิน 1: 1
สำหรับประเทศที่ดุสิตจะเข้าไปขยายธุรกิจอย่างมาก คือประเทศจีน ล่าสุดได้ตัดสินใจร่วมทุนกับChanzhou Qiao Yu Group ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และโรงแรมของจีน เพื่อจัดตั้งบริษัทรับบริหารโรงแรมในจีน ในนามบริษัทดุสิต ฟูดู อินเตอร์เนชั่นแนล โฮเต็ล แมเนจเม้นท์ (เซี่ยงไฮ้)จำกัด ซึ่งบริษัทดุสิต ไชน่า แคปปิตอล จำกัดถือหุ้น 45% ทางจีนถือหุ้น 49% และฝ่ายบริหารของดุสิตถือหุ้น 10% ทุนจดทะเบียน 30 ล้านหยวนหรือราว 150 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดสำนักงานได้ในเดือนมีนาคมนี้ เพื่อขยายการเติบโตระยะยาวในจีน
ทั้งนี้การตัดสินใจไปตั้งบริษัทรับบริหารโรงแรมร่วมกับพันธมิตรจีน ทำให้สามารถเติบโตในจีนได้อย่างรวดเร็วหรือโตได้กว่า 2-3 เท่า มากกว่าเดิมที่ใช้สำนักงานที่ฮ่องกง ในการขยายการรับบริหารโรงแรมในจีน เนื่องจากเห็นว่าหากเข้าไปสร้างแบรนด์ในจีน ก็จะทำให้แบรนด์เราเป็นที่รู้จัก และเมื่อคนจีนเลือกที่จะเดินทางมายังประเทศไทยหรือต่างประเทศ ก็จะเลือกเข้าพักกับโรงแรมของดุสิตเช่นกัน
สาเหตุที่จะเข้าไปลงทุนในจีน ก็เป็นเพราะจีนเป็นตลาดที่มีอนาคต และจะเป็นตลาดท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุด รวมถึงเศรษฐกิจในจีนอนาคตก็จะขยายตัวใหญ่สุดในโลก ประกอบกับเงินหยวน อนาคตก็แข็งค่าขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์กับการลงทุนในจีนของดุสิตในระยะยาว นอกจากนี้ตลาดจีนเป็นตลาดที่ใหญ่มาก 
"ภายในปี 2561 ดุสิตจะมีห้องพักภายใต้การบริหารในจีนรวมกว่า 5 พันห้องจากโรงแรมจำนวน 20 กว่าแห่ง ยังไม่รวมโรงแรมที่ดุสิตเองก็มองโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนด้วย โดยแบรนด์ที่ดุสิตจะนำเข้าไปเปิดตลาด คือ ดุสิตธานี ดุสิตดีทู บางเมืองอาจมีดุสิตเดวาราณา รวมถึงเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ด้วย ซึ่งเริ่มแรกจะรับบริหารโรงแรม 10 แห่งในจีน โดยเป็นโรงแรมที่เมืองไห่หนาน 2 แห่ง ที่กวางเจา 1 แห่ง โรงแรมที่เป็นการลงทุนเองของกลุ่มที่เราไปร่วมลงทุนตั้งบริษัทรับบริหารโรงแรมที่เปิดแล้ว 2 แห่งที่ฉางซู ชิงเต่า และกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 4 แห่ง และโรงแรมใหม่ๆ ของคนอื่นที่เรากำลังเจรจาที่จะเข้าไปรับบริหารอีก 2-3 ราย ดังนั้นผมจึงเชื่อว่าในอีก 10 ปี จำนวนโรงแรมและจำนวนห้องพักเครือดุสิตในจีนจะมีขนาดใหญ่กว่าธุรกิจในไทยด้วยซ้ำ"
นอกจากนี้ยังมองการลงทุนโรงแรมใหม่ๆในเมียนมาร์และอีก 2-3 ประเทศ ก็หวังว่าน่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ ซึ่งที่เมียนมาร์จะมองการลงทุนโรงแรมและโรงเรียนสอนการโรงแรมในพื้นที่ติดกัน รวมถึงการขยายการรับบริหารโรงแรมในประเทศอินเดีย แต่อินเดียมีปัญหาเรื่องการขออนุญาตก่อสร้างโรงแรมที่ล่าช้ามาก โดยดุสิตรับบริหารโรงแรมในอินเดีย 4-5 แห่ง ปีนี้เปิดได้ 2 แห่ง ซึ่งการขยายธุรกิจของดุสิตในอินเดียจะโตช้ากว่าจีนมาก
นายชนินทธ์ ยังกล่าวอีกว่า ในปีนี้ดุสิตจะเปิดให้บริการโรงแรมในต่างประเทศได้ราว 7 แห่งได้แก่ โรงแรมดุสิตธานี อาบู ดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โรงแรมดุสิตธานี กวม สหรัฐอเมริกา โรงแรมดุสิตเดวาราณา ไห่หนาน ประเทศจีน โรงแรมดุสิตเดวาราณา นิวเดลี อินเดีย โรงแรมดุสิตดีทู นิวเดลี อินเดีย โรงแรมดุสิตดีทู พาซาดีน่า สหรัฐอเมริกา โรงแรมดุสิตดีทู ไนโรบี เคนยา 
ส่วนการขยายธุรกิจในประเทศไทย ดุสิตได้เซ็นสัญญารับบริหารไปแล้ว 1 โรงแรม คือ โรงแรมดุสิตดีทู เขาใหญ่ ของตระกูลวิไลลักษณ์ เจ้าของบริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่นฯ ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งไม่ได้เน้นการรับบริหารโรงแรมในประเทศมากนัก เพราะค่าจ้างบริหารในไทยจะต่ำกว่าการบริหารโรงแรมในต่างประเทศมาก
จุดหลักจึงจะเน้นการขยายการลงทุนโรงแรมใหม่ในประเทศไทย ผ่านกองทุน DTCPF โดยจะเข้าไปซื้อโรงแรม 2-3 แห่ง ซึ่งมองไว้ที่สมุย โรงแรมระดับ 4 ดาวในภูเก็ต และหัวเมือง เช่น อุดรธานี ขอนแก่นอุบลราชธานี เพื่อนำมาเข้ากองทุน ซึ่งดุสิตมองโรงแรมใหม่ที่จะเข้าไปซื้อ 100% เหมือนที่ได้ไปซื้อโรงแรมดุสิตธานี ลากูน่า ภูเก็ต เพราะทรัพย์สินของดุสิตที่มีอยู่ มีอายุ 20-30 ปี ถ้าเอาเข้ากองทุน จะต้องเสียภาษีขายเข้ากองทุนเป็นวงเงินที่สูงมากเกินไป
ขณะนี้ดุสิตอยู่ระหว่างการรีโนเวตโรงแรมรอยัล ปริ๊นเซส เชียงใหม่ และจะรีแบรนด์เป็นดุสิตปริ๊นเซส เชียงใหม่ โดยในปีนี้จะใช้งบราว 50 ล้านบาทในการปรับปรุงโรงแรม
ในส่วนของเป้าหมายการเติบโตของรายได้ในปีนี้ คาดว่าจะเติบโตอย่างน้อย 15-20% ขณะที่ทิศทางของการท่องเที่ยวในปีนี้ก็มีแนวโน้มขยายตัวกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งปีที่แล้วถือเป็นปีแรกในรอบ 6 ปีที่สถานการณ์ในไทยนิ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้ผู้ประกอบการห้องพักสามารถปรับราคาขึ้นมาได้บ้าง เพราะไทยมีปัญหาเรื่องของราคาห้องพักที่ถูกที่สุดในเอเชีย และภาครัฐบาลควรมองเรื่องการขยายโครงสร้างพื้นฐานให้ทันต่อการรองรับนักท่องเที่ยว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น