วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

"ไฮสปีดเทรน" ฝันที่กำลังจะเป็นจริง?

โครงการรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรน เปรียบเสมือนดังความฝันที่คนไทยรอคอยมานานแสนนาน เพราะเห็นประเทศที่พัฒนาแล้วใช้ไฮสปีดเทรน แทนการนั่งเครื่องบินข้ามจังหวัด หรือแม้กระทั่งข้ามประเทศกันอย่างง่ายดายที่สุด ซึ่งมีข้อดีแตกต่างจากเครื่องบินค่อนข้างมากทีเดียว ที่สำคัญการนั่งเครื่องบินยังมีข้อจำกัดหลายด้าน และจำเป็นต้องเผื่อเวลาเพื่อเช็ก-อิน อีกประมาณ 1-2 ชม. ไม่เช่นนั้นอาจตกเครื่องได้ 

จากแผนการศึกษาของหน่วยงานต้นคิดของกระทรวงคมนาคม อย่างสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีการศึกษาโครงการรถไฟความเร็วไว้ทั้งหมด 5 สาย ประกอบด้วย 

1. กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ระยะทาง 745 กิโลเมตร มูลค่า 229,000 ล้านบาท ใช้เวลาเดินทาง 4.13 ชั่วโมง 
2. กรุงเทพฯหนองคาย มูลค่า 201,449 ล้านบาท ระยะ ทาง 615 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 3.08 ชั่วโมง 
3.กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี มูลค่า 182,069 ล้านบาท ระยะทาง 570 ล้านบาท ใช้เวลาเดินทาง 3.25 ชั่วโมง 
4.กรุงเทพฯ-ระยอง มูลค่า 72,265 ล้านบาท ระยะทาง 221 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 1.11 ชั่วโมง และ 
5.กรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ มูลค่า 297,880 ล้านบาท ระยะทาง 982 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 5.31 ชั่วโมง 

ล่าสุด หลังจากที่นายกรัฐมนตรี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เดินทางกลับจากเยือนจีนและญี่ปุ่น เพื่อดูงานรถไฟความเร็วสูงไอเดียก็ผุด โดยมีการมอบนโยบายให้ผู้บริหารของกระทรวงคมนาคมปรับแผนการลงทุนก่อสร้าง จำนวน 4 สายทาง ตามนโยบายของรัฐบาลใหม่อีกรอบ โดยให้ปรับระยะทางการก่อสร้างให้สั้นลง เพื่อให้สามารถผลักดันโครงการที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ให้มีผลงานเกิดเป็นรูปธรรมได้เร็วขึ้น และให้เป็นจริงมากที่สุดภายใน 4-5 ปีนี้ ตามกรอบระยะเวลาที่รัฐบาลบริหารประเทศ 

โดยทั้ง 4 สายทาง ที่ทบทวนใหม่มีระยะทางรวมเหลือ 996 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุนประมาณ 359,006 ล้านบาท ปรับลดจากแผนงานเดิมที่มีระยะทางรวม 1,447 กิโลเมตร เงินลงทุน 481,066 ล้าน บาท โดยจะมีเพียง 2 สายทางที่ปรับลดระยะทางและเงินลงทุนลง คือ 

1. สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เหลือแค่กรุงเทพฯ-พิษณุโลก และ 
2. สายกรุงเทพฯ-ระยอง ปรับลดเหลือกรุงเทพฯ-พัทยา 

สำหรับรายละเอียดแผนและเส้นทาง 4 สายทาง มีดังนี้ 
1.สายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 328 กิโลเมตร เงินลงทุน 121,014 ล้านบาท ปรับลดระยะทางจากเดิม 745 กิโลเมตร เงินลงทุนเดิม 229,809 ล้านบาท 
2.สายกรุงเทพฯ-พัทยา ระยะทาง 187 กิโลเมตร เงินลงทุน 59,000 ล้านบาท ปรับลดระยะทางจากเดิมเป็นสายกรุงเทพฯ-ระยอง ซึ่งระยะทางรวม 221 กิโลเมตร เงินลงทุนเดิม 72,265 ล้านบาท 

อีก 2 สายทางที่เหลือจะใช้แผนระยะทางและเงินลงทุนเท่าเดิมคือ 

3.สายกรุงเทพฯ-โคราช ระยะทาง 256 กิโลเมตร เงิน ลงทุน 96,826 ล้านบาท และ 
4.สายกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 225 กิโลเมตร เงิน ลงทุน 82,166 ล้านบาท 

“จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม บอกว่า กระทรวงคมนาคมจะเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการพัฒนารถไฟความเร็วสูง โดยมี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และ “ศิลปชัย จารุเกษมรัตนะ” รักษาการปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นกรรมการและเลขานุการ พร้อมแต่งตั้งคณะทำงานอีก 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านเทคนิคและวิศวกรรม ด้านการเงินและการลงทุน ด้านบริหารการเดินรถ ด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มโครงการ และคณะทำงานร่างกรอบความต้องการของประเทศเพื่อดำเนินงานระบบรถไฟความเร็วสูง โดยมีวิสาหกิจรถไฟความเร็วสูงแห่งชาติรับผิดชอบในการดำเนินการก่อสร้างและควบคุมงาน เพื่อเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟความ เร็วสูง 

สำหรับความเป็นไปได้ของโครงการรถไฟความเร็วสูงมี 4 เส้นทาง รวมระยะทาง 1,447 กม.วงเงินก่อสร้างรวม 481,066 ล้านบาท ประกอบด้วย 

1.เส้นทางกรุงเทพฯ- พิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง 745 กม. วงเงิน 228,809 ล้านบาท 
2.เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 256 กม. วงเงิน 96,826 ล้านบาท 
3.กรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 225 กม. วงเงิน 82,166 ล้านบาท และ 
4.กรุงเทพฯ-ระยอง (ต่อขยายโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง หรือแอร์พอร์ต- เรลลิงค์) ระยะทาง 221 กม. วงเงิน 72,265 กม. 

“เงินลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงนั้นไม่มีปัญหา เพราะเชื่อมั่นว่ารัฐบาลมีศักยภาพและมีขีดความสามารถในการหาแหล่งเงินทุนได้ ประกอบกับพบว่า ประเทศจีนและญี่ปุ่นแสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุน และไทยได้ลงนามกับจีน ที่จะเข้ามาศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน คาดว่า ภายในสมัยรัฐบาลชุดนี้จะมีรถไฟความเร็วสูงให้บริการอย่างน้อย 1 สาย” 

ด้าน “สร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) บอกว่า ได้สั่งการ ร.ฟ.ท. กำหนดเงื่อนไขให้ที่ปรึกษาที่จะเข้ามาดำเนินโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ ส่วนต่อขยายจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ- พัทยา ศึกษาเพิ่มเติมถึงจังหวัดระยอง ภายใต้งบประมาณ 300 ล้านบาท จากเดิม ที่ให้ศึกษาถึงพัทยาเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น