วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

อุบลราชธานี เมืองประวัติศาสตร์...สู่มรดกโลก




                จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดประชุมสัมมนาเสนอหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เพื่อจัดทำทะเบียนเอกสารมรดกแห่งความทรงจำแห่งชาติ นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.ประเสิฐ ณ นคร ศาสตราจารย์แม้นมาศ ชวลิต ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก ดร.ม.ร.ว.รุจยา อาภากร  ดร.ประจักษ์ วัฒนานุศิษย์ นางสาวิตรี สุวรรณสถิต นายอวยชัย เกิดช่วย นางกนิศฐา กสิณอุบล นายชำนาญ ภูมลี นายมนัส สุขสาย รศ.วุฒิชัย มูลศิลป์ นายวิมล ปิงเมืองเหล็ก นายหมิว ศาลางาม นางก่องแก้ว วีระประจักษ์  ร่วมเสวนา
               โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิในจังหวัดอุบลราชธานี คือ  นายระลึก ธานี ได้บรรยาย เรื่องเมืองอุบล ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ และได้รับเกียรติจากศิลปินแห่งชาติ  เช่น นางฉวีวรรณ ดำเนิน ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม นภดล  ดวงพร ทองใส ทับถนน ร่วมประชุมพร้อมหัวหน้าส่วนราชการ และนักประวัติศาสตร์ภูมิพลังเมืองอุบล ฯ ซึ่งมี นายสุรพล สายพันธ์ ผวจ.อุบลราชธานี ร่วมสืบสานงานสำคัญครั้งนี้
               นอกจากการสัมมนาและเสนอข้อมูลเพื่อขึ้นทะเบียนแล้ว ยังได้นำคณะศึกษาดูงานแหล่งประวัติศาสตร์ที่วัดทุ่งศรีเมือง วัดสุปัฏนารามวรวิหาร และบ้านคำผ่องสุขสาย เพื่อเป็นการสืบค้นและประกอบในการขึ้นทะเบียนเอกสารมรดกความทรงจำแห่งชาติ และแห่งโลกตามลำดับ
               สำหรับสาระสำคัญและความเป็นมา ขอนำเรียนเพื่อทราบโดยย่อ ดังนี้ มรดกความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World) ประเทศไทย องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก พิจารณาเห็นควรว่าความรู้ ความคิด ประสบการณ์  จินตนาการ เรื่องราว ของมนุษย์ที่มีเชื้อชาติ ภาษา  ขนบธรรมเนียมประเพณีแตกต่างกัน กระจายอยู่ในดินแดนต่างๆทั่วโลก ที่มนุษย์ได้ร่วมกันโดยมิได้ตั้งใจสร้างสรรค์ภูมิปัญญาให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมด้วยการบันทึกเป็นภาพ ลายลักษณ์อักษร เสียง ลงในวัสดุต่างๆเพื่อกันลืม และเพื่อถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้รับทราบสืบต่อกันไป เช่น  หนังสือที่เขียนด้วยมือบนกระดาษ ใบไม้ สกัดอักษรลงบนโสตทัศน์วัสดุบนแผ่นฟิล์มและแถบเสียง วัสดุอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ดิสเก็ต ซีดีรอม มัลติมิเดียและฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ รวมกันเป็นเอกสารมรดกความทรงจำ เป็นเครื่องบ่งชี้ให้ทราบถึงอารยธรรมของมนุษยชาติ
               แต่วัสดุเหล่านี้ส่วนมากแล้วไม่ทนต่อสภาพภูมิอากาศภูมิประเทศ เหตุการณ์ทางธรรมชาติเช่นแผ่นดินไหว น้ำท่วม ความชื้น ฝุ่นละออง แสงแดด หนู ปลวก มอด แมลง และฝีมือมนุษย์ที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ ฯลฯ จึงทำให้อารยธรรมด้นเอกสารมรดกความทรงจำของมนุษย์จึงถูกทำลายลงอย่างมากสมควรที่ประเทศต่างๆ ต้องร่วมมือกันปกป้องรักษาเอกสารมรดกที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน ทั้งวัสดุบันทึกและเนื้อหาอย่างยิ่งยืนยาวนานตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงอนาคต ส่วนที่เป็นเนื้อหาก็ควรเผยแพร่ให้ทราบและใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง
               ที่ประชุมสมัยสามัญประจำปี พ.ศ.2535 ของยูเนสโก จึงมีมติให้จัดตั้งแผนงานความทรงจะแห่งโลก (Memory of the World Program) หรือมีชื่อย่อว่า MOW ขึ้นภายใต้โครงการใหญ่ด้านสื่อสารมวลชนหรือ Communication and Information ที่ประเทศไทยส่วนร่วมในการดำเนินงานมาตั้งแต่ต้น กล่าวคือเมื่อปี พ.ศ.2538 คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ของประเทศไทยจึงได้เสนอให้ศาสตราจารย์พิเศษคุณหญิงแม้นมาส ชวลิต เป็นกรรมการที่ปรึกษาระหว่างประเทศว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก โดยเป็นกรรมการสองวาระ คือ พ.ศ.2538-2539 และ พ.ศ.2540-2541 ได้เดินทางไปร่วมประชุมที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หนึ่งครั้งที่เมืองกแดนซค์ ประเทศโปแลนด์ หนึ่งครั้ง
               หลักฐานสำคัญในจังหวัดอุบลราชธานี ที่เสนอขึ้นทะเบียน คือ จารึกจังหวัดอุบลราชธานีกล่าว ว่า จังหวัดอุบลราชธานีอยู่ในแหล่งที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยโบราณ สมัยก่อนประวัติศาสตร์มีหลักฐานให้เห็นว่ามีผู้คนอาศัยอยู่ ในยุคเป็นสังคมผู้ล่าสัตว์ต่อมาจนถึงสมัยที่ผู้คนมีอาชีพทางเกษตรกรรม ในพุทธศตวรรษที่ 12-13 พื้นที่บางส่วนของจังหวัดอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรเจนละดังปรากฏ ลายลักษณ์อักษรร่วมสมัยของอาณาจักรเจนละซึ่งแสดงว่า เจ้าของพื้นที่ดั้งเดิม เป็นกลุ่มคนที่พูดภาษามอญ เขมร และเป็นชุมชนเกษตรกรรม อาศัยความคิดทางการเมือง และปรัชญาของอินเดีย
               ต่อมาปลายพุทธศตวรรษ ที่ 12-13 ภายใต้วัฒนธรรมของทราวดี ซึ่งมีวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาของอินเดีย เป็นพื้นฐาน ดังปรากฏหลักฐานเป็นพระพุทธรูปและใบเสมา ภายใต้วัฒนธรรมเจนละสมัยเมืองพระนคร ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-18  ปรากฏจารึกหลายหลักในจังหวัดอุบลราชธานี นอกจากนี้ภาพถ่ายทางอากาศยังแสดงถึงร่องรอยของชุมชนโบราณทางตอนเหนือ ของจังหวัดอุบลราชธานี เช่น การสร้างนารายและคูน้ำคันดินต่อมาชุมชนที่พูดภาษาตระกูลไทยลาวจึงครองอำนาจเหนือพื้นที่บริเวณนี้
                สมัยรัตนโกสินทร์ต่อเนื่องมาจากสมัยกรุงธนบุรีพระวอ พระตา ขัดแย้งกับกษัตริย์ประเทศลาว มาขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าตาก และได้สถาปนาเมืองอุบลขึ้น แต่หลักฐานมีน้อยและขัดแย้งกันอยู่ เช่น พระวอ พระตาเป็นเจ้านายหรือคนธรรมดา สองคนนี้เป็นพี่น้องกันหรือว่าพระวอ พระตาเป็นบุตรของพระตา
               เรื่องนี้ นำมาจากหนังสือ “วัฒนธรรมพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดอุบลราชธานี” ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานีได้จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการฝ่ายประมวล เอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการอำนวยการจังหวัด งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ 5 ธันวาคม 2542
               สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 15 ได้กำหนดเวลาครองเมือง ของเจ้าเมืองอุบลราชธานีไว้ตามหลักฐานจดหมายเหตุทางราชการ ที่ปรากฏอยู่ดังนี้
                1. พระปทุมวรราชสุริยวงษ์ (คำผง) ผู้สร้างเมืองอุบลคนแรก พ.ศ.2321-2338 ครองอุบลวันจันทร์เดือน 8 แรม13 ค่ำ ตรงกับ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2335 ถึง 2338
               2. พระพรหมราชสุริวงศา (ท้าวทิดพรหม) พ.ศ. 2338-2338 เมืองสร้างไป 5 ปี
                3. สุ่ย ลูกของพระพรหมราชสุริวงศา ครองเมือง 7 วัน ตาย
               4. พระพรหมวรราชสุริยวงศ์ (กุทอง) พ.ศ.2388-2403
                5. เจ้าพระยาเทวานะเคราะห์ พ.ศ.2406-2429
               หลักฐานเอกสารในจังหวัดอุบลราชธานี กำลังได้รับการขับเคลื่อนให้เป็นความรู้ระดับโลก ขอขอบคุณหอจดหมายเหตุแห่งชาติฯ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และนักประวัติศาสตร์ทุกท่าน ที่จัดประชุมสัมมนา รวมไปถึงนักปราชญ์เมืองอุบลราชธานี ที่ได้ดำเนินการสืบสานมรดกล้ำค่าในจังหวัดอุบลราชธานีและในภูมิภาคนี้ให้อนุชนรุ่นหลังได้มีความเข้าใจ และเป็นองค์ความรู้ที่จะนำไปขยายผลให้เกิดความภาคภูมิใจของความเป็นชาติต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น