วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

วัดเลียบ พระแก้วนิลกาฬ


     วัดเลียบ ประวัติความเป็นมาจากหลักฐานและบันทึกของพระเดชพระคุณพระโพธิญาณมุนี (สุธีร์ ภทฺทิโย) ปรากฏว่า ก่อตั้งเมื่อวันพฤหัสบดี เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๓๙๑ จ.ศ.๑๒๑๐ ร.ศ.๖๗ ปีวอก สัมฤทธิ์ศก ตรงกับปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ (ไม่พบหลักฐานที่เป็นเอกสารการขอตั้ง)
      ส่วนที่มาของชื่อวัดนั้น พระโพธิญาณมุนี ท่านสันนิษฐานไว้ว่า น่าจะเป็นวัดซึ่งสร้างเลียบคันคูเมือง เพราะลักษณะของแนวริมแม่น้ำมูลซึ่งเป็นชั้นสูงแล้วจึงลาดต่ำลงมา ทางทิศเหนือเป็นแอ่งอยู่ระหว่างแนวถนนศรีณรงค์ ในบริเวณซึ่งเรียกขานกันว่าหลุบยางใหญ่ มีหนองน้ำอยู่ เรียกว่าหนองนกทา อีกทั้งยังมีชื่อของถนนเขื่อนธานีปรากฏอยู่
      แต่ก็มีบางท่านสันนิษฐานว่า ชื่อวัดนั้นมาจากกิริยาอาการเดินไปตามริมตามขอบของหลวงปู่เสาร์ สำนักสงฆ์แห่งนี้มีอายุได้ ๔๔ ปี มีเจ้าอาวาสปกครองมา ๑๐ รูป จนถึงยุคท่านพระอาจารย์ทิพย์เสนา ทิพฺพเสน (แท่นทิพย์) ซึ่งเมื่อท่านมรณภาพลง ก็ไม่มีพระสงฆ์ใดครองสำนักสงฆ์แห่งนี้ต่อ เป็นเหตุให้ต้องร้างไปเป็นเวลาเกือบปี
      ต่อมาหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ได้มาบุกเบิกเสริมสร้างวัดเลียบขึ้นเป็นวัดธรรมยุตและมาเป็นเจ้าอาวาส เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๕ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีญาติโยมเข้ามาช่วย พระอุบลการประชานิจ (บุญชู พรหมวงศานนท์) พระสุรพลชยากร (อุ่น) ท้าวกรมช้างทองจัน และสังฆการีจารปัจฌา สังฆการจารเกษ และทายกทายิกาได้มีศรัทธาช่วยกันปฏิสังขรณ์วัด และขยายพื้นที่วัดเพิ่มเติม โดยสร้างรั้วรอบวัด เสนาสนะและถาวรวัตถุ
      ต่อมาหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ขอพระราชทานขอเป็นวิสุงคามสีมา โดยท้าวสิทธิและเฟี้ยเมืองจัน ได้กราบบังคมทูนพระกรุณาเป็นวิสุงคามสีมา ตามพระบรมราชโองการที่ ๘๗ / ๓๐๓ ตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๔๓๙ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ขนาดกว้าง ๕ วา ยาว ๗ วา

     จากการสัมภาษณ์ พระครูอุบลคณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเลียบ เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ท่านได้เล่าถึงที่มาของพระแก้วนิลกาฬ จากการได้พบกล่องลายไม้สักโบราณ ในขณะที่เป็นเจ้าอาวาสในปี พ.ศ.๒๕๔๕ โดยค้นพบบนฝาเพดานกุฎิสุขสวัสดิ์มงคลซึ่งเป็นกุฎิหลังเก่าของวัดเลียบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งท่านได้พบพระพุทธรูป ๓ องค์ ได้แก่ พระพุทธรูปบุเงิน ๒ องค์ และ พระแก้วนิลกาฬ ๑ องค์ และท่านได้นำมาให้ญาติโยมมารดน้ำสงกรานต์ เมื่อพ.ศ.๒๕๔๙ และได้จัดทำเครื่องทรงชฎา มงกุฎทองคำ ซึ่งทำจากพลอยแท้ ทองคำแท้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น