วันจันทร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2555

บทบาทของโรงพยาบาลศูนย์สรรพสิทธิประสงค์ที่ควรจะเป็นในทศวรรษหน้า และความคืบหน้าของการขอขยายพื้นที่ของโรงพยาบาลฯระหว่าง มีนาคม-เมษายน 2555 โดย. นพ.มนัส กนกศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์อุบลราชธานี

วิสัยทัศน์ของโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์อุบลราชธานี คือ "เราจะเป็นโรงพยาบาล ศูนย์ชั้นนำด้านวิชาการ บริการ และส่งเสริมสุขภาพอย่างมีคุณภาพ ที่เป็นเลิศในระดับสากล"

วิสัยทัศน์ของหน่วยงานภาครัฐโดยทั่วไปมักเป็นคำนิยมหรือสโลแกนที่ดูสวยงาม แต่ไม่ค่อยมีผลทางปฏิบัติ มักมีไว้โชว์ผู้ที่มาศึกษาดูงานเท่านั้น เรียกว่าเป็น "เสือกระดาษ" ก็ว่าได้ แต่ทางทีมบริหารโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ พยายามจะทำให้เป็นเสือจริงให้ได้ โดยทางโรงพยาบาลฯได้พยายามทุกวิถีทางที่จะสื่อลงไปยังทุกองคาพยพของโรงพยาบาลฯและประชาชนผู้มารับบริการ ให้รับทราบความหมายเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ดังนี้

การเป็น "โรงพยาบาลศูนย์ชั้นนำด้านวิชาการที่เป็นเลิศในระดับสากล" หมายถึง "โรงพยาบาลศูนย์ต้องมีบทบาทเปรียบได้ดั่งต้นไทรที่หยั่งรากลึกเป็นไม้ยืนต้น ที่สูงใหญ่มั่นคงและยั่งยืน เป็นที่พึ่งพาอาศัยของหมู่นกกา มิใช่เป็นเพียงต้นหญ้าในสนามฟุตบอลเท่านั้น"

ต้นหญ้าในสนามฟุตบอลไม่แตกต่างจากต้นหญ้าในสนามตะกร้อเลยต่างเพียงแต่ขนาดของสนามเท่านั้นเปรียบได้กับโรงพยาบาลศูนย์ที่มีเพียงชื่อเป็นโรงพยาบาลศูนย์ ที่ขีดความสามารถไม่ต่างจากโรงพยาบาลทั่วไปเลย ต่างกันแค่จำนวนผู้ป่วยและจำนวนเตียงรับผู้ป่วยที่มีมากกว่าเท่านั้น ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ก็ไม่ทราบว่าจะมีโรงพยาบาลศูนย์ไปทำไมในเมื่อมีโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชนเยอะ ๆ จะไม่ดีกว่าหรือ เพราะต้นทุนดำเนินการค่ายาค่า ใช้จ่ายต่ำกว่าแถมใกล้บ้านใกล้ใจประชาชนเข้าถึงบริการได้ง่ายกว่าด้วย

แต่ ถ้าดูจากนิยามของวิสัยทัศน์ของเราเป็นที่มาของความสำเร็จหลาย ๆ ประการที่ไม่ เคยมีในโรงพยาบาลศูนย์แห่งอื่นในประเทศไทยเป็นต้นว่าการเป็นโรงพยาบาลศูนย์แห่งแรก ที่ทำการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคอวัยวะที่มีภาวะสมองตาย เป็นโรงพยาบาลศูนย์แห่งแรกที่เปิดห้องปลอดเชื้อความดันบวกเตรียมปลูกถ่ายไข กระดูกเป็นต้น ในทศวรรษหน้านี้เราไม่มีนโยบายในการเพิ่มจำนวนเตียง แต่มีนโยบายที่จะพัฒนาขีดความสามารถของโรงพยาบาลที่ส่งผู้ป่วยที่ไม่ควรจะ เป็นภาระหน้าที่ของโรงพยาบาลศูนย์มาให้เรารักษาให้ค่อย ๆ พัฒนาความแข็งแกร่ง เพิ่มขึ้นภายใน 10 ปีข้างหน้า ถ้าเราทำได้จำนวนเตียงของเราที่รักษาโรคง่าย ๆ จะค่อย ๆ ลดลง จำนวนโรคง่าย ๆ ที่เคยรับรักษาเป็นผู้ป่วยในของเราในอดีตจะค่อย ๆ ลดลงเราจะ สามารถรับรักษาโรคที่รักษายากและซับซ้อนได้มากขึ้น

สิ่งที่จะได้จากการขยายพื้นที่บริการของเราที่แท้จริงก็คือ สภาพแวดล้อมของผู้ป่วยและญาติในเขตอีสานใต้ทั้งหมด 4.5 ล้านชีวิต ที่มาฝากชีวิตไว้ที่นี่ สภาพแวดล้อมของผู้ปฏิบัติงาน 3,500 คน ต้องปลอดภัย สะอาด สะดวก ทั้งที่รักษาแล้วหายและเสียชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และความเป็นคนไทยเฉกเช่นคนในเมืองหลวง ประชาชนกลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงบริการได้ง่าย ถ้าเป็นไปได้จะปิดบริการผู้ป่วยนอกทั่วไป รับเฉพาะผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยในที่ต้องการการรักษาและความเชี่ยวชาญระดับสูงที่รับส่งต่อจากทั้งโรงพยาบาลทั่วไปหรือโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ที่ได้รับการพัฒนาแล้วทั้งใน เขตเทศบาลอำเภอเมือง นอกเขตเทศบาลอำเภอเมือง อำเภออื่น ๆ ในจ.อุบลฯ และจ.ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ มุกดาหาร คุณภาพและขีดความสามารถในการบริการไม่แตกต่างจากโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์ในเมืองหลวง ภาพในฝันก็คือหากมีโรงพยาบาลสองแห่งตั้งอยู่เคียงข้างกันระหว่างโรงพยาบาล แบบเดียวกับโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ในเมืองหลวงกับโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ในอีก 10 ปีข้างหน้า ชาวอุบลฯจะเลือกรับบริการที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ซึ่งก็ไม่ทราบว่าจะฝันมากไปหรือเปล่า อย่างน้อยก็ไม่แออัด รถไม่ติดหน้าห้องฉุกเฉินจนอาจเสียชีวิตกลางถนนก่อนเข้าโรงพยาบาลฯ ไม่เสี่ยงต่ออัคคีภัยรถดับเพลิงเข้าไม่ได้เหมือนปัจจุบันแต่ที่เหนือกว่าโรงพยาบาลใน โรงเรียนแพทย์อื่น ๆ ก็คือสำหรับผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมายแล้วจะยังคงไม่มีคำว่า “เตียงเต็ม” อยู่เช่นเดิม มีที่จอดรถสำหรับผู้ป่วย ญาติและเจ้าหน้าที่เพียงพอ มีบ้านพักเจ้าหน้าที่ที่จะต้องขึ้นเวรบ่ายดึกเพราะจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดยามวิกาลอย่างเพียงพอ มีห้องพิเศษอย่างเพียงพอทั้งปริมาณและคุณภาพบริการที่คล่องตัวมีระบบบริหาร ที่มีประสิทธิภาพสามารถอยู่รอดทางการเงินได้สามารถสร้างความพอใจให้กับผู้รับบริการทุกระดับบุคลากรทางการแพทย์ขวัญกำลังใจดีมีชีวิตที่มั่นคงมีความสุขทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ

ขอรายงานความคืบหน้าการขอขยายพื้นที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ไปยังพื้นที่ข้างเคียงให้ชาวอุบลราชธานีได้รับทราบว่าเรามีการเกาะติดอยู่ตลอดเวลาใน เรื่องนี้

ปลายเดือนมีนาคม 2555 ทางโรงพยาบาลฯ ได้ทำหนังสือผ่านทางท่านผวจ.สุรพล สายพันธ์ เป็นผู้ลงนามไปยัง กรมพัฒนาชุมชนเพื่อขอคืนพื้นที่ 22 ไร่ตรงข้ามช่อง11 อุบลฯ เพื่อใช้ในการขยายพื้นที่ในการให้บริการของโรงพยาบาลฯ 

10 เมษายน 2555 กรมพัฒนาชุมชนได้มีการประชุมที่กรมฯ และผลสรุปว่ายินดีคืนพื้นที่ 22 ไร่ หน้ากว้างประมาณ 300 เมตร ตรงกันข้ามกับช่อง 11 อุบลฯให้กับธนารักษ์เพื่อให้โรงพยาบาลฯทำเรื่องแนบไปขอธนารักษ์ประกอบการขยายพื้นที่ของโรงพยาบาลฯ

15 เมษายน 2555 ท่านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานีได้นัดพบท่านชิดชัย เพื่อหารือเรื่องสืบเนื่องจากการขอขยายพื้นที่ของโรงพยาบาลฯ โดยท่านผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานีได้ร่วมรับฟังอยู่ด้วย และทีมบริหารของโรงพยาบาลฯได้ขอพรจากท่านและรดน้ำสงกรานต์ท่านด้วย

17 เมษายน 2555 ทีมบริหารของโรงพยาบาลฯได้ขอเข้าพบเพื่อรดน้ำขอพรจากท่านเกรียง กัลป์ตินันท์ และขอคำแนะนำจากท่านในหลาย ๆ เรื่องนำมาปรับใช้ท่านรับว่าจะให้การสนับสนุนเรา

18 เมษายน 2555 ทางโรงพยาบาลฯ โดยผอ.ได้เข้าพบท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุขท่านนพ.ไพจิตร์ วราชิต เพื่อเข้ารดน้ำดำหัวและขอพรจากท่าน และได้รายงานความคืบหน้าในการขยายพื้นที่โรงพยาบาลฯให้ท่านรับทราบและขอหารือเรื่องการโอนเงินบำรุงจำนวน 120 ล้านบาทของโรงพยาบาลฯให้กับหน่วยราชการสังกัดกรมพัฒนาชุมชนในจังหวัดอุบลฯ นำไปสานต่อโครงการอุทยานการเรียนรู้ฯลฯ ตามเงื่อนไขพิเศษที่ทางโรงพยาบาลฯเสนอและตอนสาย ๆ ได้เข้ารดน้ำดำหัวและขอพร ท่านอธิบดีกรมพัฒนาชุมชนและขอบพระคุณท่านในนามชาวอีสานใต้ที่สนับสนุนทางโรงพยาบาลฯ ในเรื่องที่ 22 ไร่ตรงข้ามช่อง11อุบลฯ

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะได้รับประโยชน์และพึงพอใจโดยถ้วนหน้า โดยประโยชน์สูงสุดตกแก่ประชาชนชาวอุบลฯและชาวอีสานใต้ในที่สุด
[/IMG]
[IMG]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น