วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เวที สปสช.ที่อุบลฯเข้ม ประชาชนขอมาตรฐานเดียวในการรักษาพยาบาล

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2555 ที่หอประชุมพนาภินันท์ โรงพยาบาลอำเภอตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี  ได้มีการจัดประชุมเวทีสมัชชาประชาพิจารณ์หลักประกันสุขภาพเพื่อรับฟังความคิดเห็นทั่วไปแบบมีส่วนร่วมของผู้ให้บริการและผู้รับบริการ  ตามมาตรา 18 (13) ประจำปี 2555 ซึ่งเป็นเวทีที่ 4 ต่อเนื่องจากสามเวทีที่ผ่านมา  โดยเวทีนี้ได้ตระเวนมาจัดที่อำเภอตระการพืชผลมีประชาชนจาก 6 อำเภอเข้าร่วม  ได้แก่  ตระการพืชผล  กุดข้าวปุ้น  เขมราฐ  นาตาล  ศรีเมืองใหม่และโพธิ์ไทร  มีผู้เข้าร่วมประชุมอย่างคึกคักประมาณกว่า  120 คน
               การประชุมครั้งนี้ถือว่ามีความเข้มข้นเป็นพิเศษ  ผู้เข้าร่วมประชุมต่างแสดงทรรศนะอย่างตรงไปตรงมาโดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลที่ในเวทีเสนอว่าอยากให้มีระบบรักษาพยาบาลมาตรฐานเดียว  นั่นคือ  1 คน 1 บัตร 1 สิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ถือบัตรข้าราชการ บัตรประชาชน หรือบัตรประกันสังคมก็ตาม โดยอยากให้ระบบการรักษาและบริการให้มีมาตรฐานเดียวและสามารถใช้บัตรที่มีเลข 13 หลัก ในการยื่นรักษาพยาบาลกับทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศได้ เพื่อความสะดวกและเป็นการไม่เลือกปฏิบัติ เพราะสิ่งเป็นอยู่ในปัจจุบันการบริการของหน่วยงานด้านสุขภาพบางแห่งมักจะเลือกปฏิบัติ โดยให้บริการที่ดีไม่ว่าจะเป็นห้องพักรักษาตัว การจ่ายยาและบริการด้านอื่นๆให้กับผู้ที่ถือบัตรข้าราชการและบัตรประกันสังคมก่อน  เพราะถือว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่สามารถเบิกได้ ส่วนประชาชนผู้ที่ถือบัตรทองทั่วไปกลับให้การบริการอีกแบบหนึ่ง  ซึ่งผู้เข้าร่วมเวทีต่างก็สะท้อนว่าเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมให้กับคนทุกข์คนยาก
               นางดอกไม้  ปวะบุตร  พยาบาลเวชปฏิบัติจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเป้า  อำเภอตระการพืชผลกล่าวว่า  ถ้าระบบการรักษาพยาบาลสามารถปฏิบัติได้เหมือนกันทั่วประเทศโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติว่าใครมีสิทธิ์ใช้บัตรอะไรจะเป็นเรื่องที่ดีมากๆ แต่ในส่วนของตนซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลซึ่งทำงานให้บริการกับประชาชนในระดับชุมชน  ถือว่าการบริการในระดับชุมชนนั้นทุกคนได้รับการบริการอย่างเท่าเทียมกัน  ดังนั้นในระดับชุมชนจึงไม่มีปัญหาในด้านนี้  แต่ในส่วนของหน่วยบริการขนาดใหญ่นั้นยังถือว่ามีระบบบริการที่ไม่เท่าเทียมกัน  คนไข้ที่เป็นข้าราชการสามารถเลือกรับยานอกกรอบหรือยาจากต่างประเทศได้  เนื่องจากสามารถเบิกได้แต่ถ้าเป็นประชาชนธรรมดาก็อาศัยยาทั่วไป  ซึ่งตนมองว่าไม่มีความเท่าเทียมถ้าจะให้ดีน่าจะมีบริการที่ดีให้กับประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน
               นอกจากนี้ในเวทียังได้เสนอประเด็นอื่นๆ เช่น  เรื่องเกณฑ์มาตรฐานในการบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน  เพราะที่ผ่านมาการรักษาผู้ป่วยหรือการบริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยยังมีความสับสนอยู่ว่าอะไรคือเกณฑ์ชี้วัดว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินเพราะเกณฑ์ของแต่ละที่ไม่เท่ากัน  ดังนั้น  อาจทำให้เกิดความสับสนในการบริการผู้ป่วยได้  ในช่วงสุดท้ายผู้อำนวยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 10 ซึ่งได้เข้าร่วมเวทีตั้งแต่ต้นจนครบกระบวนการได้กล่าวสรุปถึงภาพรวมของงานและได้ตอบคำถามถึงข้อเสนอแนะที่เกิดขึ้นในเวทีเบื้องต้น  เพื่อนำเรื่องที่รับฟังไปสู่การปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนให้ได้มากที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น