วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2555

'ก๊าซซีบีจี'ทางรอดประเทศไทย

ภายใต้แผนพัฒนาพลังงานทดแทน 10 ปี(2555-2564) ที่ผ่านมาความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปแล้ว โดยมีเป้าหมายที่จะหาเชื้อเพลิงใหม่มาทดแทนการใช้น้ำมันดีเซลลงให้ได้ 25 ล้านลิตรภายในปี 2564 กำลังเป็นโจทย์ใหญ่และความท้าทายของกระทรวงพลังงาน ที่จะดำเนินงานไปสู่เป้าหมายได้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากเวลานี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า เชื้อเพลิงใหม่ที่จะมาทดแทนน้ำมันดีเซลนั้นจะมาจากประเภทใด เพราะปาล์มน้ำมันที่จะมาผลิตไบโอดีเซล ก็ยังประสบปัญหาขาดแคลนอยู่ทุกปี ขณะที่การวิจัยพัฒนาสาหร่ายน้ำมัน ยังไม่เห็นการผลิตในรูปเชิงพาณิชย์ออกมา และคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะได้เห็นในเชิงรูปธรรม
แต่ความคาดหวังหนึ่งที่มีทางเป็นไปได้ และกระทรวงพลังงานพยายามผลักดัน ในการหันไปพึ่งก๊าซเอ็นจีวีใช้สำหรับรถยนต์ ที่ในแต่ละปีมีอัตราการเติบโตค่อนข้างมาก ปัจจุบันมีการใช้อยู่ในระดับ 7,800 ตันต่อวัน ที่ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในรถบรรทุกขนาดใหญ่ แต่มีปัญหาตามมาว่า โครงสร้างราคาที่เป็นอยู่ 10.50 บาทต่อกิโลกรัม ยังไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ทำให้บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ชะลอการขยายสถานีบริการเอ็นจีวีออกไป ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนอยู่ ยังกระจายไม่ทั่วถึงในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ไกลจากแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติ
++ดันก๊าซ ซีบีจีเป็นทางรอด 
สำหรับทางออกในเรื่องนี้ ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) พยายามที่จะส่งเสริมให้มีการใช้ก๊าซเอ็นจีวีให้มากขึ้นและกระจายอยู่ตามพื้นที่ห่างไกล เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่งก๊าซเอ็นจีวีอันเป็นต้นทุนที่สำคัญ จึงได้ริเริ่มจัดทำโครงการนำก๊าซชีวภาพมาอัดในรูปของก๊าซซีบีจี ซึ่งมีคุณสมบัติเทียบเท่าก๊าซเอ็นจีวีหรือซีเอ็นจีวีขึ้นมา
นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสนพ.ชี้ให้เห็นว่า โครงการดังกล่าว เวลานี้กำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก โดยเฉพาะที่เยอรมนีมีการตั้งโรงงานผลิตซีบีจีจาการนำพืชมาหมักเป็นก๊าซชีวภาพและนำมาอัดเป็นซีบีจีกว่า 7.2 พันแห่ง แต่ละแห่งผลิตก๊าซซีบีจีขนาดเล็กสุดได้ 3 ตันต่อวัน หรือกว่า 2 หมื่นตันต่อวัน หากประเทศไทยสามารถส่งเสริมการตั้งโรงงานได้จำนวนมาก ก็จะทำให้แผนการจัดหาเชื้อเพลิงใหม่มาแทนน้ำมันดีเซลบรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้น เพราะเวลานี้การผลิตซีบีจีในไทยประสบความสำเร็จแล้ว จากที่กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้ให้งบสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปทำการวิจัยจนประสบความสำเร็จ และนำไปต่อยอดวิจัยร่มกับบริษัท เชียงใหม่เฟรชมิลค์ฟาร์ม จำกัด ตั้งอยู่อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ที่นำก๊าซชีวภาพที่ได้จากมูลวัวในฟาร์มจำนวนประมาณ 3,500 ตัว หรือนำก๊าซชีวภาพที่ได้วันละ 1.7-2 พันลูกบาศก์เมตร มาอันเป็นก๊าซซีบีจีได้วันละประมาณ 100 กิโลกรัมต่อวัน โดยมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 13 บาท ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้กับเครื่องจักรอุปกรณ์ทางการเกษตรได้อย่างไม่มีปัญหา รวมถึงรถยนต์กระบะที่ใช้ในฟาร์มด้วย ซึ่งล่าสุดทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยู่ระหว่างการหารือกับทางบมจ.ปตท.ที่จะนำโครงการดังกล่าวไปต่อยอด เพื่อผลิตก๊าซซีบีจีไปสู่เชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยมีขนาดกำลังการผลิต 3 ตันต่อวันขึ้นไป 
++เอกชนรุกเข้าสู่เชิงพาณิชย์ 
นอกจากโครงการต้นแบบแล้ว เวลานี้มีภาคเอกชนที่มีความสนใจที่จะขยายโครงการนี้ออกไปให้แพร่หลาย อย่างบริษัท ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด(มหาชน) ได้ก่อสร้างผลิตก๊าซซีบีจีในเชิงพาณิชย์ได้แล้ว โดยเป็นการนำหญ้าเลี้ยงช้างมาหมักร่วมกับน้ำเสียจากมูลสุกร สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ประมาณ 6 ตันต่อวัน และพร้อมจะส่งจำหน่ายให้กับบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)ได้ไม่เกินเดือนกันยายนปีนี้
นายกิตติ ชีวะเกตุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ทางบริษัทได้รับงบสนับสนุนการวิจัย 15 ล้านบาท จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ร่วมกับศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มาจัดทำโครงการพัฒนาก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกรเพื่อการคมนาคมขึ้นมา เพื่อติดตั้งระบบผลิตก๊าซซีบีจี ที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ มูลค่าการลงทุนรวม 110 ล้านบาท 
โดยโรงงานดังกล่าวเป็นการนำน้ำเสียจากฟาร์มสุกรที่อยู่ใกล้เคียงวันละประมาณ 10 ตัน มาหมักร่วมกับหญ้าเลี้ยงช้างวันละ 23 ตัน ซึ่งสามารถผลิตเป็นก๊าซซีบีจีได้ถึง 6 ตันต่อวัน แต่โรงงานแห่งนี้ออกแบบการผลิตไว้ได้ถึง 9 ตันต่อวัน ขึ้นอยู่กับปริมาณวัตถุดิบที่มีอยู่ ซึ่งเวลานี้ได้ทำสัญญาซื้อขายก๊าซซีบีจีกับทางบมจ.ปตท.ไปแล้วในราคา 16 บาทต่อกิโลกรัม นำไปป้อนให้กับสถานีบริการได้ 1 แห่ง ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่สามารถรองรับรถยนต์ได้ 500 คันต่อวันหรือรองรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ได้ 40 คันต่อวัน ซึ่งจะช่วยให้บมจ.ปตท.ไม่ต้องแบกรับภาระค่าขนส่งจำนวนมาก เพราะหากเทียบกับการขนส่งก๊าซเอ็นจีวีจากอำเภอแก่งคอยขึ้นมาที่จังหวัดเชียงใหญ่แล้ว เอ็นจีวีที่จะจำหน่ายจะตกอยู่ที่ประมาณ 20 บาทต่อกิโลกรัม
อีกทั้ง โครงการนี้นอกจากเป็นการช่วยลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศแล้ว ยังช่วยส่งเสริมเกษตรกรให้มีรายได้จากการปลูกหญ้าเลี้ยงช้าง ที่รับซื้อในราคากิโลกรัมละ 1 บาท หากเกษตรกรปลูกหญ้าเลี้ยงช้าง 1 ไร่ จะได้ผลผลิต 8-17 ตันต่อไร่ และใน 1 ปีตัดได้ 6 ครั้ง เป็นรายได้ดีกว่าการปลูกข้าวในเวลานี้
นายกิตติกล่าวเสริมอีกว่า จากความสำเร็จดังกล่าว ทางบริษัทมีแผนที่จะลงทุนทำโรงงานผลิตซีบีจีที่เป็นการหมักจากหญ้าเลี้ยงช้างทั้งหมด ส่งป้อนให้กับบมจ.ปตท.อีก 5 แห่ง ขนาดแห่งละ 6 ตันต่อวัน อยู่ในจังหวัดขอนแก่น 4 แห่ง และในจังหวัดอุบลราชธานี 1 แห่ง ใช้เงินลงทุนแห่งละประมาณ 110 ล้านบาท ซึ่งการขยายโรงงานผลิตซีบีจีไปตั้งที่ต่างๆนั้น ต้องขึ้นอยู่กับพื้นที่การปลูกหญ้าเลี้ยงช้างว่าอยู่ตามพื้นที่ไหนบ้าง หากเป็นไปตามแผนคาดว่าทั้ง 5 แห่ง จะสามารถเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป
++จัดทำแผนดันสู่นโยบาย
นายสุเทพ กล่าวเสริมว่า จากความสำเร็จของโครงการซีบีจีที่เกิดขึ้น ทางสนพ.เตรียมที่จะจัดทำแผนหรือมีเป้าหมายที่แน่ชัดในการส่งเสริมการผลิตก๊าซซีบีจีออกมาในช่วงปลายปีนี้หรืออย่างช้าต้นปีหน้า เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อเป็นนโยบายการส่งเสริมให้มีการผลิตก๊าซซีบีจีในระดับวงก้าวมากขึ้นและขยายผลได้เร็วขึ้น ซึ่งจะต้องมาดูว่าจะสนับสนุนในรูปแบบใด อย่างการให้เงินส่วนเพิ่มหรือ แอดเดอร์ กับโครงการ เพื่อเป็นการจูงใจให้กับผู้ผลิตซีบีจี เพราะถือว่าเป็นการผลิตพลังงานทดแทนอย่างหนึ่ง เหมือนกับที่เวลานี้ให้แอดเดอร์สำหรับการผลิตก๊าซชีวภาพนำไปผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 30 สตางค์ต่อหน่วย หรือการใช้วงเงินสนับสนุนจากภาครัฐไม่เกิน 10 % ของมูลค่าโครงการ รวมถึงการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกับผู้ประกอบการ เป็นต้น เพราะเวลานี้เองการผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อนำไปผลิตไฟฟ้าใช้กันอย่างแพร่หลาย หากผู้ประกอบการสนใจนำมาผลิตเป็นซีบีจี ก็จะช่วยให้เกิดการใช้ก๊าซซีบีจีสำหรับยานยนต์มากขึ้นตามไปด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,767 19-22 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น