วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ม.ราชภัฏอุบลฯ เสวนาการบริหารจัดการน้ำในอนาคต


   มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จัดเสวนาการบริหารจัดการน้ำทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของจังหวัดอุบลราชธานีในอนาคต เพื่อระดมความคิดเห็นในการบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นระบบ

               ( 28 ส.ค.55) ที่ห้องประชุมโกมุท มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ผู้ช่วยศาสตราจารย์อานนท์ สุริยา รองอธิการบดี ฝ่ายบริการวิชาการชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กล่าวในการเปิดเสวนาการบริหารจัดการน้ำทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของจังหวัดอุบลราชธานีในอนาคต ว่า การจัดเสวนาในครั้งนี้เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ได้แสดงความคิดเห็นและหาทางออกร่วมกันในการบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งวิทยากรในเวทีเสวนาได้แสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย
               โดยนายกำจรเดช สงใย หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานอุบลราชธานี กล่าวว่า จังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดปลายน้ำ เพราะน้ำแม่น้ำสำคัญในภาคอีสานจะไหลมารวมกันที่จังหวัดอุบลราชธานี ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ และเนื่องจากปริมาณน้ำทางตอนบนและปริมาณน้ำฝนมีน้อย คาดว่าปีนี้น้ำจะท่วมในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีน้อยกว่าปี 2554 ที่ผ่านมา
               ส่วนทางด้านนายพรชัย โควสุรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า การเกิดน้ำท่วมเป็นเรื่องธรรมชาติที่ควบคุมได้ยาก ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันในการหาแนวทางลดความเสียหายและความรุนแรงลง ซึ่งในเบื้องต้น องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ได้ดำเนินการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ จัดหาพื้นที่กักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนเพื่อเป็นการชะลอน้ำและกระจายน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงหน้าแล้ง
               ในขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชา เพียรชนะ ประธานสาขาวิชาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม คระวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี ส่วนหนึ่งเกิดจากป่าบุ่งป่าทามลดจำนวนลง ไม่มีพื้นที่การชะลอน้ำ อีกทั้งพื้นที่แก้มลิงเริ่มลดน้อยลงเนื่องจากการขยายตัวของสังคม แหล่งน้ำต่างๆเกิดการตื้นเขิน ซึ่งการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้ประสบความสำเร็จนั้น ทุกภาคส่วนต้องมีความรู้ มีข้อมูลที่ชัดเจน และแก้ไขอย่างจริงจัง
               นอกจากนี้วิทยากรทั้งสามคนยังมีความเห็นตรงกันว่า ในอนาคตควรหาแนวทางในการพร่องน้ำ ที่บริเวณแก่งสะพือและแก่งตะนะให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขงเร็วยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในจังหวัดอุบลราชธานี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น