วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ภูมิปัญญาชาวบ้าน ร่วมสืบสานสู่พิพิธภัณฑ์วัดหนองช้างน้อย


   จังหวัดอุบลราชธานี เมืองนักปราชญ์ มีทรัพยากรและมรดกล้ำค่า ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น และศิลปวัฒนธรรมงดงาม เป็นดินแดนที่มีชื่อเสียงด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมประเพณียิ่งใหญ่ลุ่มแม่น้ำ 3 สาย คือ โขง ชี มูล ที่สำคัญ มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติหลากหลายและวิธีชีวิตสืบต่อกันมาเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาที่คนไทยทุกคนควรรู้ และเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยใช้และมีภูมิปัญญาท้องถิ่นจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน และได้รับพระราชทานเข็มเกียรติคุณ การอนุรักษ์มรดกไทยดีเด่น ปี 2554 จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
                วัดศรีสุพนอาราม  บ้านหนองช้างน้อย ต.หนองช้าง อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี โดยพลัง 3 ประสาน คือ บ้านวัดโรงเรียนในชุมชนร่วมกันขับเคลื่อนให้มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านขึ้น  ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก พระอาจารย์ฉลอง ธัมมิโก พร้อมด้วยชาวบ้านหนองช้างน้อย ได้มีการรวบรวมวัตถุโบราณและเครื่องใช้ชาวบ้านอีสานจวนมากตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2533 และระดมทุนก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ คอนกรีตชั้นเดียว กว้าง 9 เมตร ยาว 18 เมตรค่าก่อสร้าง 1 ล้าน 2 แสนบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ สืบสานภูมิปัญญาชาวบ้านและปลุกจิตสำนึกให้คนในท้องถิ่นต่างๆ ส่งเสริมสนับสนุน การจัดกิจกรรมตามประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆรวมทั้งสนับสนุนให้มีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหรือพิพิธภัณฑ์ชุมชนขึ้น  ปัจจุบันมีวัตถุโบราณและสิ่งของเครื่องใช้ที่รวบรวมได้มากกว่า 1,000 ชิ้น  และที่สำคัญ คือเรือโบราณที่มีอายุกว่า 200 ปี  และเพิ่งค้นพบในท้องถิ่นบริเวณลำเซบก  เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554เป็นเรือขนาดใหญ่ ทำจากต้นไม้ต้นเดียว มีความกว้าง 1.85 เมตร ยาว 21.60 เมตร นับว่าเป็นเรือขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้
                ทั้งนี้ เพื่อสะท้อนชีวิตและความเป็นมาของชุมชนอันจะสร้างความรู้และความภูมิใจในชุมชนท้องถิ่น และมีการฟื้นฟู โดยการเลือกสรรภูมิปัญญาที่กำลังจะสูญหายไปแล้วมาทำให้มีคุณค่าและมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตในท้องถิ่น โดยเฉพาะพื้นฐานทางจริยธรรม คุณธรรม การพัฒนา ริเริ่มสร้างสรรค์  โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นพื้นฐานในการรวมกลุ่มการพัฒนาอาชีพ ควรนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยเพื่อต่อยอด  เพื่อใช้ในการผลิต การตลาด และการบริการ ตลอดจนการป้องกันและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แล้วมีการถ่ายทอดให้สังคมได้รับรู้ เกิดความเข้าใจ ตระหนักในคุณค่า คุณประโยชน์ โดยผ่านสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษาและกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ

                นายจำปี  ภูมิภาค อายุ 64 ปี อยู่บ้านเลขที่ 26 หมู่ 1 บ้านหนองช้างน้อย เล่าความเป็นมาและประวัติบ้านหนองช้างน้อยว่าชุมชนนี้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2465 โดยแยกมาจากบ้านหนองช้างใหญ่ เนื่องจากอยู่ไกลที่ทำมาหากิน หลังจากตั้งหมู่บ้านเสร็จได้ตั้งวัดประจำหมู่บ้าน คือ ศรีสุพนอาราม สำหรับท้องถิ่นนี้ เดิมได้เคยเป็นที่อยู่ของพวกข่า และขอมโบราณอาศัยอยู่  สังเกตได้จากหลักฐานหมู่บ้านร้าง  ของพวกข่าและขอม กระจายอยู่โดยทั่วไป เช่นดงบ้านกรุง ดงบ้านสังข์  ดงบ้านทม  ดงบ้านแขม ปัจจุบันเป็นที่สาธารณะประโยชน์  ต่อมาชาวบ้านซึ่งเป็นพวกลาวดั้งเดิมอพยพมาพร้อมกับการตั้งเมืองอุบลราชธานี  ได้มาอาศัยอยู่แทนหมู่บ้านเหล่านั้น ได้ขุดพบเครื่องใช้ของพวกขอมโบราณมากมา เช่น ไห 4 หู ของขอมพระพุทธรูปโบราณ และมีบุคคลสำคัญในหมู่บ้านเห็นความสำคัญ จึงได้รวบรวมวัตถุโบราณของเครื่องใช้โดยมีพระอาจารย์ฉลอง ธัมมิโก ซึ่งเป็นเชื้อสายคนในหมู่บ้านหนองช้างน้อย ร่วมกับผู้นำชุมชนจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน วัดศรีสุพนอาราม และเป็นพิพิธภัณฑ์บ้านแห่งแรกของ อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมสืบสาน อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และถ่ายทอดให้อนุชนคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้อย่างทั่วถึง
                นายพีระศักดิ์  องกิตติคุณ  นายอำเภอม่วงสามสิบ กล่าวถึงความเป็นมาและแนวทางการพัฒนาท้องถิ่นว่า อำเภอม่วงสามสิบ เดิมคือ “บ้านที” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ โปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะขึ้นเป็นเมือง เกษมสีมา” ขึ้นตรงต่อเมืองอุบลราชธานี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2425 จึงถึงคราวปรับปรุงการปกครองครั้งใหญ่ระหว่างปี พ.ศ. 2443-2445 เมืองเกษมสีมา ถูกลดฐานะลงเป็นอำเภอ ต่อมาปี พ.ศ. 2452 ทางราชการได้รวมอำเภอเกษมสีมากับอำเภออุตรูปนิคม (ซึ่งอยู่ใกล้เคียง) เข้าด้วยกัน เรียกชื่อใหม่ว่า อำเภออุตรอุบล” แต่ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอ “ม่วงสามสิบ  ตามชื่อของหมู่บ้านดั้งเดิมจนถึงปัจจุบัน
                อำเภอม่วงสามสิบ มีภูมิปัญญาและอาชีพที่หลากหลาย เช่น ด้านเกษตรกรรม โภชนาการ อาหารแปรรูป มีกิจกรรมการทำปุ๋ยหมัก ผลิตปุ๋ยชีวภาพ ด้านการบริหารจัดการองค์กรชุมชน สวัสดิการชุมชน ด้านการส่งเสริมการเกษตร การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและการส่งเสริมอาชีพในชุมชน ด้านหัตถกรรมมีผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้าย ผ้าไหม หมอน ตะกร้า กระติบข้าว ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี
                นายประยูร กาฬเนตร  ครู คศ.3 ที่ปรึกษาพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านกล่าวว่า ในการเรียนรู้สมัยปัจจุบันต้องก้าวทันเทคโนโลยี และมีส่วนร่วมในการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนทุกวันนี้ เรากำลังก้าวกระโดด และก้าวข้ามความเป็นท้องถิ่นมาก นักเรียน นักศึกษา และเยาวชนยังขาดองค์ความรู้ในท้องถิ่น ไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น หมู่บ้าน ชุมชน ดังนั้น การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านขึ้นจึงเป็นแหล่งเรียนรู้ทั้งด้านประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่มีสาระความรู้ ศิลปวัฒนธรรม นำพาให้ประชาชนและเยาวชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นสร้างองค์ความรู้ สามารถปรับตัว และประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน
                คุณยายสุพรรณ  คชพรม อายุ 65 ปี อยู่บ้านเลขที่ 62 หมู่ 1 บ้านหนองช้างน้อย ต.หนองช้างใหญ่ เล่าว่า มีความภูมิใจที่วัดศรีสุพนอารามและชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน เพื่อให้ลูกหลานได้เรียนรู้ และมีวัตถุโบราณเก่าแก่หลายร้อยปีรวมถึงเครื่องใช้ของชาวอีสานจำนวนมาก ที่สำคัญ นับตั้งแต่มีโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์จำนวนมาก คุณยายได้อาสามาเป็นผู้ร่วมกลุ่มอนุรักษ์สืบสาน และดูแลผู้มาเยี่ยมชมอย่างต่อเนื่องทุกวัน
                สำหรับเยาวชนประกอบด้วย ด.ญ.ภัสราภรณ์  ลัทธิวรรณ  น.ส.สุภักษร  เขียวสวัสดิ์ และน.ส.รัตนาพร  แก่นธรรม  มีส่วนร่วมในการสืบสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น และยังทำหน้าที่ให้ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน

                ในการอนุรักษ์สืบสานกว่า 20 ปี ที่ผ่านมา พระฉลอง  ธัมมิโก ได้ใช้ความรู้ความสามารถและจัดตั้ง พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชนและขยายผลเป็นแบบอย่างในการสร้างเครือข่ายสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งผลให้ พระฉลอง ธัมมิโก ได้รับการยกย่องเป็นผู้อนุรักษ์มรดกโลกไทยดีเด่น ปี 2554 และได้รับพระราชทานเข็มเกียรติคุณ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ณ  พระที่นั่งพุทไธสวรรยค์ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2554
                พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน วัดศรีสุพนอาราม บ้านหนองช้างน้อย หมู่ที่ 1 ต.หนองช้างใหญ่ อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี เป็นสถานที่สำคัญในการรวบรวมสืบสานโบราณวัตถุ และเป็นแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น เป็นสถานศึกษาชุมชน ซึ่งจะเป็นพลังพัฒนาการศึกษาศิลปวัฒนธรรม  ให้กับประชาชนเยาวชนคนไทยมีความรู้ ความเข้าใจ รักความเป็นไทย นำไปพัฒนาครอบครัว ชุมชนสังคมให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น