วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555

กศน.อุบลฯ ร่วมกับ OKMD จัดกิจกรรมเผยแพร่ชุด “ความรู้สร้างอาชีพ”

นายทศพร อินทรพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดอุบลราชธานี (ผอ.กศน.จังหวัดอุบลราชธานี) เปิดเผยว่าในปี 2553-2554 สบร.            ได้ทำความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ พัฒนาแหล่งเรียนรู้ต้นแบบ “ศูนย์ความรู้กินได้” ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และค้นคว้าหาความรู้ของประชาชนในพื้นที่ ก่อให้เกิด “ทุนทางปัญญา” ให้กับสังคมไทยเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมโดยเชื่อมโยงและพัฒนาองค์ความรู้จากทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม เข้ากับภูมิปัญญาและทักษะเฉพาะตัวของแต่ละท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่กระบวนการคิดและต่อยอดในการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน
          สำนักโครงการและจัดการความรู้ ได้รับความเห็นชอบในหลักการ จากคณะกรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ ให้ดำเนินงานโครงการขยายผลศูนย์ความรู้กินได้ ในปีงบประมาณ 2555 เพื่อขยายผลศูนย์ความรู้ ต่อเนื่องโดยมุ่งเน้นการพัฒนา “คน” ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา ให้มีทักษะในการบริหารความรู้ (Knowledge Management: KM) เพื่อให้เป็นนักจัดการความรู้ (Knowledge Professional: KP)ที่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการแหล่งเรียนรู้สาธารณะ และสามารถพัฒนา “ชุดประมวลความรู้”หรือ กล่องความรู้กินได้ ซึ่งเป็นสื่อความรู้สร้างอาชีพแบบบูรณาการ เพื่อนำไปต่อยอดและสร้างโอกาสทางอาชีพให้กับประชากรในท้องถิ่นของตน
          นายทศพร กล่าวต่อไปว่า เพื่อเป็นการขยายผลศูนย์ความรู้กินได้อย่างเป็นรูปธรรม สบร. และสำนักงาน กศน. จังหวัดอุบลราชธานีจึงได้ดำเนินการจัดกิจกรรมชุดประมวลความรู้ “ความรู้สร้างอาชีพ” ในเดือนกันยายน 2555 เพื่อนำเสนอแหล่งข้อมูลความรู้ในการประกอบอาชีพแบบบูรณาการ สำหรับการสร้างอาชีพให้กับประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งจัดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของงานมหกรรมความรู้ 2555 ตอนคิดเป็นคือโอกาส
          จึงจัดโครงการจัดกิจกรรมเผยแพร่ชุดประมวลความรู้ในงาน “ความรู้สร้างอาชีพ” ซึ่งแบ่งกิจกรรมออกเป็น 2 ระยะดังนี้ คือ ระยะที่ 1 จัดอบรมบุคลากรและเตรียมความพร้อมในแหล่งเรียนรู้ ระหว่างวันที่ 23-24 สิงหาคม 2555 จะจัดขึ้น ณ โรงแรมเป็น ตา ฮัก (Pen Ta Hug) ซึ่งในช่วงนี้ การนำเสนอแนวคิด “ศูนย์ความรู้กินได้” และถ่ายทอดองค์ความรู้จากชุดประมวลความรู้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการประยุกต์ใช้องค์ความรู้จากภาคทฤษฏีสู่ภาคปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของท้องถิ่น
          ส่วนในกิจกรรมระยะที่ 2 จัดกิจกรรมเผยแพร่ชุดประมวลความรู้ ระหว่างวันที่ 22-23 และ 29-30 กันยายน ถึงวันที่ 6-7ตุลาคม 2555 เพื่อสร้างโอกาสให้นักจัดการความรู้ (KP) และบุคลากรแหล่งเรียนรู้ในจังหวัดอุบลราชธานีได้เข้าถึงองค์ความรู้ โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ ไปประยุกต์ใช้ในการนำความรู้จากภาคทฤษฏีสู่ภาคปฏิบัตินำไปต่อยอดการสร้างอาชีพได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ โดยการจัดกิจกรรมเผยแพร่ชุดประมวลความรู้ (กล่องความรู้กินได้) ณ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี
          กลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้คือ บุคลากรและนักศึกษา กศน.จังหวัดอุบลราชธานี เจ้าหน้าที่ห้องสมุดประชาชน จำนวน 25 แห่งในจังหวัดอุบลราชธานี ปราชญ์ชาวบ้าน และผู้ประกอบการในจังหวัดอุบลราชธานี รวมไปถึงประชาชนทั่วไป ทั่งนี้ผู้จัดโครงการได้หวังว่าผู้เข้ารับการอบรมจะมีความรู้ความเข้าใจและสามารถวางแผนจัดกิจกรรมได้อย่างสร้างสรรค์ พร้อมทั้งแนะนำการประกอยอาชีพอย่างถูกต้องและครบถ้วน นายทศพร กล่าวในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น