วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

อาชีวอุบลฯ ส่งเรือไฟร่วมฉลองงาน “สว่างไสวมหานทีแห่งเจ้าพระยา”



       วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ปลื้ม ผ่านคัดเลือกแข่งเรือประดับไฟงานประเพณีลอยกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพฯ จัดทำเรือยาว 90 ฟุต ในกรอบแนวคิดต้นเทียนพรรษาอัตลักษณ์ของจังหวัด พญานาคแห่งความสมบูรณ์ กระต่ายปีพระราชสมภพรัชกาลที่ 9 และปลานิลอาหารที่พระองค์ทรงพระราชทานให้ปวงชนชาวไทยได้กินมาถึงทุกวันนี้      
       ดร.ธนกร ไชยกุล ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวอุบลราชธานี กล่าวถึงการส่งเรือประดับไฟฟ้าเข้าร่วมงานเทศกาลวันลอยกระทง ซึ่งสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จัดประกวดเรือประดับไฟฟ้าเพื่อสร้างความตื่นตาตื่นใจให้นักท่องเที่ยวชาวไทย และต่างประเทศได้สัมผัสในเทศกาลระหว่างวันที่ 24-28 พ.ย.ศกนี้ ใต้ชื่อ “สว่างไสวมหานทีแห่งเจ้าพระยา” (The Miracle light of chaopraya) ซึ่งวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการจัดงานให้ส่งเรือประดับไฟฟ้าเข้าร่วมประกวด 1 ใน 9 แห่งของประเทศไทย
      
       สำหรับการดำเนินการจัดเตรียมเรือ คณะครูอาจารย์ และนักศึกษาที่นำโดยนายอุทัย ภูริพัฒน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพยากร ได้จัดทำเรือชื่อ “เทียนธรรมเทียนพรรษา ส่องเจ้าพระยามหานที สายธารหลอมชีวี ใต้ร่มพระบารมี ธ ทรงธรรม” ซึ่งมีกรอบความคิดจากประเพณีการทำต้นเทียนวันเข้าพรรษา จนกลายเป็นอัตลักษณ์ของชาวเมืองอุบลราชธานี ตัวเรือจึงประดับด้วยต้นเทียนพรรษา พญานาค และชุมชนคุ้มวัด
      
       รวมถึงกระต่ายที่เป็นปีนักษัตร อันหมายถึงปีพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และปลานิล โดยความหมายของพญานาคคือ สัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นดินแดนแห่ง 3 สายนที ได้แก่ แม่น้ำมูล แม่น้ำชี และแม่น้ำโขง
      
       รูปทรงของพญานาคมีปีก 2 ข้างแทนคุณลักษณะพิเศษที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์เฉพาะของจังหวัดอุบลราชธานี ต้นเทียนพรรษาประดับดอกบัว ดอกไม้ประจำจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งบนฐานพญาหงส์ เพื่อนำเสนอภาพเคลื่อนไหวพระกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รูป “กระต่าย” สัญลักษณ์ของปีเถาะ ทำจากภาชนะดินเผา หมายถึงปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชสมภพ
      
       โดยมี 2 มือประคองอยู่ด้านล่าง สื่อความหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นครูของแผ่นดิน โดยเชื่อมโยงพุทธวจนะจากพระธรรมบทความว่า “ครูเปรียบเสมือนช่างปั้นหม้อ ผู้ประคับประคองภาชนะดินดิบให้เกิดรูปทรง” ซึ่งความหมายถึงพสกนิกรชาวไทยทั้งมวลที่ได้ดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่าน
      
       สำหรับสัญลักษณ์ “ปลานิล” เป็นพันธุ์ปลาที่ทรงทดลองเลี้ยง และเพาะพันธุ์ในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เมื่อประสบความสำเร็จได้พระราชทานให้กรมประมงนำไปขยายพันธุ์ และแจกจ่ายให้แก่พสกนิกรทั่วไปนำไปเลี้ยง เพื่อเพิ่มอาหารให้ราษฎรของพระองค์มีกินมาจนถึงทุกวันนี้
      
       ดร.ธนกร กล่าวอีกว่า การตกแต่งเรือประดับไฟฟ้านี้ ได้ดำเนินการเกือบเสร็จสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว และจะนำเรือเข้าร่วมการซ้อมใหญ่ในวันที่ 23 พ.ย. ที่สะพานพุทธยอดฟ้าไปสิ้นสุดที่สะพานกรุงธน ก่อนเข้าร่วมประกวดในวันที่ 24-28 พ.ย. โดยมีจุดแสดงแสง สี เสียง พลุไฟที่บริเวณสะพานพุทธยอดฟ้า และบริเวณสวนหลวงพระราม 8 สำหรับตัวเรือมีความยาว 90 ฟุต มีความสูงจากผิวน้ำ 4.5 เมตร กว้าง 6 เมตร ประดับด้วยไฟฟ้าทั้งลำเรือ
      
       โดยมีเรือที่เข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น ประกอบด้วย เรือจากจังหวัดชัยนาท เรือจากกองทัพอากาศ เรือจากโรงเรียนมัธยมวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์ เรือของกรมอู่ทหารเรือ กองทัพเรือ เรือจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เรือจากบริษัทอาร์ต อิท จำกัด เรือของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เรือจากบริษัทบุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด และสุดท้ายเรือจากวิทยาลัยอาชีวอุบลราชธานี
      
       ทั้งนี้ เรือที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดครั้งนี้ จะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช พร้อมเงินรางวัล 500,000 บาท รางวัลที่ 2 ได้ถ้วยรางวัลของ นายกรัฐมนตรี พร้อมเงินรางวัล 200,000 บาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น