วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ขนส่งทุ่ม1.5หมื่นล้านผุดศูนย์กระจายสินค้าสิงห์รถบรรทุกขานรับ

กรมการขนส่งทางบก - ขบ. ทุ่มงบฯ 1.5 หมื่นล้านลุยพัฒนา สถานีขนส่งสินค้า 15 แห่งทั่ว ประเทศทั้ง เหนือ-ใต้-อีสาน รองรับเปิด AEC “วัฒนา” เผยปัจจุบันมีเพียง 3 แห่ง เท่านั้นขณะที่ผู้ประกอบการให้ความสนใจใช้บริการสูง ด้านเอกชนขานรับหลักการระบุเป็นเรื่องดีใช้ข้อได้เปรียบเชื่อมโยงเพื่อนบ้าน พร้อมแนะพื้นที่ใดที่เอกชนมีศักยภาพควรให้เอกชนลงทุนเอง รัฐทำหน้าที่ดูแลก็พอ 

นายวัฒนา พัทรชนม์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผย “สยามธุรกิจ” ว่า ตามแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งของกระทรวงคมนาคมนั้น กรมฯ มีอยู่ 2 โครงการที่จะดำเนินการ คือ โครงการจัดทำแผนพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางถนนด้วยรถบรรทุก และโครงการก่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้า อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย โดยในส่วนของแผนพัฒนาสถานีขนส่งสินค้านั้น จะดำเนินการทั้งสิ้น 15 แห่ง โดยแบ่งเป็นการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าเมืองชายแดน จำนวน 7 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ตาก หนองคาย มุกดาหาร สระแก้ว สงขลา และนราธิวาส และการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าเมืองหลัก จำนวน 8 แห่ง คือ จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี ปราจีนบุรี และสุราษฎร์ธานี 

“จากการจัดสัมมนาและเสวนาทางวิชาการในภูมิภาคต่าง ๆ จำนวน 6-7ครั้งที่ผ่านมา ผู้ประกอบการให้ความสนใจเป็นดี และมีความต้องการใช้บริการสูง เนื่องจากมีความตื่นตัวในเรื่องการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และยิ่งผู้ประกอบการมาเห็นสถานีขนส่งสินค้า 3 แห่ง ที่กรมฯดำเนินการในปัจจุบันคือ สถานีขนส่งสินค้าพุทธมณฑล คลองหลวง และร่มเกล้า ก็ยิ่งต้องการให้ดำเนินการโดยเร็ว”

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีแต่สถานีขนส่งสินค้าต้นทาง แต่ยังไม่มีสถานีขนส่งสินค้าปลายทางในส่วนภูมิภาค ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมและกระจายสินค้าปลายทาง และศูนย์เชื่อมต่อเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่ง ดังนั้น กรมฯ จึงได้จัดทำโครงการจัดทำแผนพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางถนนด้วยรถบรรทุกขึ้น เพื่อพัฒนาระบบการขนส่งสินค้าให้มีประสิทธิภาพเพื่อใช้เป็นสถานที่รวบรวม คัดแยกสินค้าจากแหล่งผลิตต่าง ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อส่งไปยังสถานีขนส่งสินค้าปลายทาง รวมทั้งเพื่อเป็นศูนย์เชื่อมต่อเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งไปยังการขนส่งรูปแบบอื่น โดยใช้รถบรรทุกที่มีขนาดเหมาะสมกับปริมาณการขนส่ง เพื่อช่วยแก้ไขปัญหารถบรรทุกเที่ยวเปล่าและลดต้นทุนการขนส่งทางถนนด้วยรถบรรทุก

นายวัฒนา กล่าวถึงเรื่องงบประมาณในการดำเนินการว่า จากการศึกษาในเบื้องแต่ละแห่งจะใช้งบราว 800 ล้านบาท แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เรื่องงบการจัดซื้อที่ดินซึ่งกรมฯไม่สามารถควบคุมได้ ถึงเวลานั้นอาจจะมากกว่านี้ บางแห่งอาจจะถึง 1,000 ล้านบาทก็ได้ ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ ส่วนเรื่องการดำเนินการนั้น แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วนจะดำเนินการ 8 แห่งใน 4 ปี ที่เหลือเป็นระยะถัดไปซึ่งทั้ง 15 สถานีจะต้องแล้วเสร็จใน 8 ปี 

นายปราโมทย์ กงทอง นายสมาคมผู้ประกอบการรถบรรทุกสินค้าภาคอีสาน กล่าวกับ “สยามธุรกิจ” ถึงโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าว่า จากที่รับฟังโครงการดังกล่าวในหลักการถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะสามารถเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้และเมื่อเปิด AEC ประเทศไทยก็ได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้านหลายอย่าง ทั้งในเรื่องกฎระเบียบในการขนส่งสินค้าผ่านแดน ตัวรถ และระบบลอจิสติกส์ที่จะเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เราก็จะใช้ข้อได้เปรียบนี้ให้เป็นประโยชน์

ส่วนโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนหรือไม่ ต้องดูที่เงื่อนไขของรัฐว่าจะเอื้อต่อการใช้บริการหรือไม่ อย่างไรทั้งนี้โดยส่วนตัวเห็นว่า รัฐบาลไม่ควรลงทุนเองทั้งหมด จุดไหน พื้นที่ไหน ที่เอกชนมีศักยภาพก็น่าจะให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ หรือลงทุน โดยรัฐเป็นผู้กำกับดูแล จึงจะอยู่รอดได้ เพราะที่ผ่านมามีหลายโครงการที่รัฐลงทุนเองแต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด หรือกว่าจะอยู่ตัวต้องใช้เวลานับ 10 ปี เช่น สถานนีขนส่งสินค้าชานเมือง 3 แห่งของกรมการขนส่งทางบก กว่าจะประสบความสำเร็จต้องใช้เวลาหลายปี 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น