วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2555

บพ.เพิ่มศักยภาพสนามบินภูมิภาค ของบฯ460ล.ปั้น"อุบล-อุดร"ขึ้นแท่นฮับภาคอีสาน


นายเสรี จิตต์โสภา รองอธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) เปิดเผยถึงแนวทางในการพัฒนาสนามบินที่อยู่ในความดูแลว่า ขณะนี้กรมการบินพลเรือนได้ปรับตัวให้การบริหารเป็นไปในรูปแบบเชิงพาณิชย์มากขึ้น เพื่อให้ท่าอากาศยานทั้ง 28 แห่งที่อยู่ในความดูแลมีศักยภาพในการรองรับเที่ยวบินและผู้ใช้บริการและเป็นโครงสร้าง

พื้นฐานที่ต้องมี ทั้งนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะให้เอกชนเข้ามาช่วยบริหารในบางกิจกรรม หรือในบางส่วนของสนามบิน อาทิ ระบบเช็กอินผู้โดยสาร สะพานเทียบเครื่องบิน ฯลฯ โดยกรมการบินพลเรือนจะยังดูแลภาพรวมและมาตรฐานการให้บริการทั้งหมด 

นายเสรีกล่าวว่า ปัจจุบันท่าอากาศยานที่มีศักยภาพในการทำกำไรได้แล้วมี 2 แห่ง คือ ท่าอากาศยานอุดรธานี และท่าอากาศยานกระบี่ ขณะที่ท่าอากาศยานอุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช มีผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่เหลือยังอยู่ในภาวะขาดทุน จึงจำเป็นต้องเน้นการบริหารในเชิงพาณิชย์มากขึ้น เพื่อที่จะนำรายได้จากท่าอากาศยานที่มีกำไรมาพัฒนาท่าอากาศยานที่ยังขาดทุนให้มีมาตรฐานทัดเทียมกันทุกแห่ง

"ที่ผ่านมาเราขยายพื้นที่การให้บริการที่ท่าอากาศยานกระบี่ไปแล้ว ซึ่งท่าอากาศยานแห่งนี้ยังมีพื้นที่เหลือที่จะขยายตัวรองรับอนาคตได้อีกมหาศาล เพราะมองว่ากระบี่ต่อไปจะเป็นอนาคตใหม่ทางด้านการ

ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีแนวคิดขยายรันเวย์ที่ 2 ของท่าอากาศยานภูเก็ตอีกด้วย เพราะขณะนี้มีผู้โดยสารและสายการบินใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเช่นกัน" นายเสรีกล่าว

โดยขณะนี้กรมการบินพลเรือนมีแผนที่จะเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานอุดรธานีและอุบลราชธานี โดยได้ของบประมาณอีกราว 460 ล้านบาท แบ่งเป็น สำหรับพัฒนาท่าอากาศยานอุดรธานี 270 ล้านบาท และพัฒนาท่าอากาศยานอุบลราชธานี 190 ล้านบาท เพื่อนำมาปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ สายพานลำเลียง สะพานเทียบเครื่องบิน ฯลฯ เพื่อรองรับการเพิ่มเที่ยวบินของสายการบินต่าง ๆ ได้เพิ่มมากขึ้น

"พฤติกรรมการเดินทางของคนในยุคปัจจุบันและอนาคตเราเชื่อว่าจะนิยมเดินทางโดยเครื่องบินมากขึ้นอย่างชัดเจน เราในฐานะผู้บริหารท่าอากาศยานในภูมิภาคก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งพัฒนาและปรับตัวให้สอดรับกับการขยายตัวของผู้โดยสารและไฟลต์บิน" นายเสรีกล่าว 

และว่า สำหรับแนวคิดในพัฒนาท่าอากาศยานอุดรธานีและอุบลราชธานีในครั้งนี้จะเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการผลักดันให้ทั้ง 2 แห่งเป็นฮับการบินของภาคอีสานในการเชื่อมต่อกับประเทศใกล้เคียงในอนาคตอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันก็มีสายการบินจำนวนหนึ่งที่ใช้ท่าอากาศยานอุบลราชธานีเป็นฮับบ้างแล้ว อาทิ เส้นทางอุบลราชธานี-เชียงใหม่, อุบลราชธานี-เชียงราย เป็นต้น

สำหรับความคืบหน้าในการขยายท่าอากาศยานสมุยแห่งที่ 2 ที่ดอนสัก ตามมติ ครม.สัญจรที่ภูเก็ตนั้น นายเสรีกล่าวว่า เป็นแนวคิดของฟากเอกชนด้านการท่องเที่ยวที่อยากให้มี เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจสมุยยังมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก และที่ผ่านมาไม่ค่อยได้รับความสะดวกจากท่าอากาศยานสมุยมากนัก ทางกรมไม่ได้คัดค้านแต่อย่างใด 

ขณะนี้ได้เสนอให้มีการศึกษารายละเอียดและความเป็นไปได้ ภายใต้งบประมาณ 10 ล้านบาทแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีหน้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น