วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2555

เตือนคนอีสานตอนล่างระวังไข้คอตีบระบาด แหล่งแพร่เชื้อใหญ่ชายแดนลาว


  สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี เผยตรวจพบการระบาดโรคไข้คอตีบในเขตอีสานตอนบนระบาดไปถึงภาคกลาง เตือนคนอีสานตอนล่างระวังบุตรหลาน และตัวเอง เพราะกรมควบคุมโรค พบเส้นทางการระบาดโรคมาจากชายแดนไทย-ลาว บริเวณ จ.เลย      
       นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.อุบลราชธานี เปิดเผยกรณีพบการระบาดโรคไข้คอตีบรุนแรงใน 3 จังหวัด คือ จ.เลย เพชรบูรณ์ และ จ.พิษณุโลก เบื้องต้นมีผู้เสียชีวิต แต่ยังไม่มีการยืนยันตัวเลขอย่างเป็นทางการ เบื้องต้นกรมควบคุมโรคคาดเส้นทางการระบาดของโรคมาจากชายแดนไทย-ลาว บริเวณ จ.เลย
      
       สำหรับโรคไข้คอตีบ เป็นโรคติดต่อเฉียบพลันที่พบได้ทั่วโลก แต่ประเทศที่อยู่ในเขตโซนอุ่น และในชุมชนที่ไม่มีการฉีดวัคซีนให้ภูมิคุ้มกันจะพบผู้ป่วยมาก สามารถเกิดการระบาดได้มากในฤดูฝนต่อฤดูหนาว โดยเฉพาะช่วงต้นฤดูหนาวเพราะมีอากาศหนาวเย็น เด็กมักเกิดการอักเสบของหลอดลมทำให้มีโอกาสรับเชื้อได้ง่าย และโรคนี้มักเกิดในเด็กอายุระหว่าง 2-5 ขวบ หรือในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี สำหรับผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับภูมิคุ้มกันก็มีโอกาสได้รับเชื้อป่วยเป็นไข้คอตีบได้เช่นกัน
      
       ส่วนโรคในเด็กจะมีอาการรุนแรง พบการระบาดมากในชุมชนหรือสถานที่แออัด และสถานเลี้ยงเด็ก โรคสามารถติดต่อได้ทางตรงและทางอ้อม สาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียคอรีเนแบคทีเรียม ดีฟธีเรีย (Corynebacterium dighjheriae) ทำให้เกิดแผ่นเยื่อขาวบนเยื่อบุระบบทางเดินหายใจ ต่อมทอนซิล ลำคอ กล่องเสียงหรือจมูก ทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก
      
       นพ.ศรายุธกล่าวต่อว่า อาการผู้ป่วยโรคคอตีบจะเกิดขึ้นรวดเร็วประมาณ 2-5 วัน บริเวณที่ติดเชื้อจะมีแผ่นเนื้อเยื่อสีเทา หรือสีขาว เกิดที่ผนังของหลอดคอ และที่ต่อมทอนซิลรอบๆ แผ่นเยื่อสีเทาจะบวมแดง ทั่วไปผู้ป่วยจะมีไข้ เจ็บในหลอดคอ ปวดศีรษะ นํ้ามูกไหล อ่อนเพลีย อาการ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เป็น คือ โรคคอตีบบริเวณหลอดคอ โรคคอตีบบริเวณจมูก โรคคอตีบบริเวณหลอดเสียง และโรคคอตีบบริเวณผิวหนัง
      
       นพ.ศรายุธแนะนำว่า เมื่อพบเด็กป่วยเป็นไข้คอตีบต้องรีบพาไปพบแพทย์และปฏิบัติตนเพิ่มเติม คือ ให้ผู้ป่วยพักผ่อนอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 3 สัปดาห์ ให้เด็กหรือผู้ที่เป็นโรคแยกอยู่ห่างจากเด็กคนอื่นจนกว่าจะพ้นระยะแพร่เชื้อ สำหรับโรคคอตีบเป็นโรคติดต่อที่ต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข คนในครอบครัวไม่ควรใกล้ชิดผู้ป่วยมาก จนกว่าพิสูจน์ได้ว่าผู้ป่วยไม่เป็นพาหะของโรคแล้ว
      
       “วิธีการป้องกันโรคไข้คอตีบที่ดีที่สุด คือ การให้วัคซีน (ท็อกซอยด์) แก่เด็กเล็ก ฉีดครั้งแรกเมื่ออายุ 2-3 เดือน ฉีดเข็ม 2 ห่างกัน 2 เดือน แล้วฉีดซํ้าเมื่อเด็กอายุ 1 ปี ฉีดอีกครั้งเมื่อเข้าโรงเรียน และฉีดเมื่อมีการระบาดของโรค” นพ.ศรายุธกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น