วันศุกร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555

เร่งผลักดันอาหารแปรรูป อาหารพื้นเมือง ของฝาก ให้ได้มาตรฐาน “Primary GMP”


  จังหวัดอุบลราชธานี  เร่งผลักดันอาหารแปรรูป  อาหารพื้นเมือง  ของฝากของดีจังหวัดอุบลราชธานี ผลิตภัณฑ์อาหาร OTOP  ให้ได้มาตรฐาน “Primary GMP”  โดยผนึกกำลังจากหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง  ได้แก่  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี  สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี  สำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี  สำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุบลราชธานี  ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค
            ๑๓  กันยายน  ๒๕๕๕  นายสุรพร   ลอยหา   นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี   เปิดเผยหลังจากเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานคุ้มครองผู้บริโภค           และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานพหุภาคีที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาส่งเสริม/สนับสนุนผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ OTOP ณ  ห้องประชุม ๑  (ชั้น ๓)  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี          ว่า  กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะพัฒนายกระดับสถานที่ผลิตอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะที่พร้อมจำหน่ายให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  (AEC)      โดยอาหารในกลุ่มดังกล่าวทุกรายต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการผลิต เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต  และเก็บรักษาอาหารแปรรูปในภาชนะบรรจุพร้อมจำหน่าย  หรือ Primary GMP   โดยสถานที่ตั้งและอาคารผลิต   ต้องสะอาด  ไม่สะสมสิ่งปฏิกูล  ไม่มีน้ำขังแฉะสกปรก   สามารถป้องกันสัตว์และแมลงเข้าสู่บริเวณผลิตหรือสัมผัสอาหาร  เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต   ต้องง่ายแก่การทำความสะอาด  ไม่เป็นสนิม    การควบคุมกระบวนการผลิต   วัตถุดิบ   ส่วนผสมต่างๆ   และภาชนะบรรจุ   มีการคัดเลือก  ควบคุม   เก็บรักษาอย่างเหมาะสม การสุขาภิบาล เช่น น้ำที่ใช้ในสถานที่ผลิตเป็นน้ำสะอาด มีวิธีกำจัดขยะที่เหมาะสม เป็นต้น การบำรุงรักษาและทำความสะอาดมีวิธีการดูแลทำความสะอาดและบำรุงรักษาอาคารสถานที่ เครื่องมือ  เครื่องจักร  อุปกรณ์การผลิตอย่างเหมาะสม   บุคลากรและสุขลักษณะผู้ปฏิบัติงาน  ผู้ปฏิบัติงานในบริเวณผลิตอาหารต้องไม่เป็นโรคติดต่อ หรือ โรคที่น่ารังเกียจ    หรือเป็นพาหะของโรค   สวมเสื้อผ้าสะอาด  มีการสวมหมวกตาข่ายหรือผ้าคลุมผม   เป็นต้น      ผู้ประกอบการที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าวสามารถขอรับเลขสารบบอาหารบนฉลาก    ซึ่งจะสร้างความน่าเชื่อถือในผลิตภัณฑ์อาหารให้แก่ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น
            นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี  กล่าวต่อไปว่า  ในส่วนของคณะกรรมการอาหารจังหวัดอุบลราชธานี  ได้ดำเนินการตามกลยุทธ์ “ผนึกกำลัง” เสริมนโยบายกระทรวงสาธารณสุข  โดยได้รับร่วมมือจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี  สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี  สำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี  สำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุบลราชธานี      ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มผู้ผลิตอาหารแปรรูป  อาหารพื้นเมือง  ของฝากของดีจังหวัดอุบลราชธานี   และผลิตภัณฑ์อาหาร OTOP ต่างๆ      ในการพัฒนาผู้ผลิตอาหารกลุ่มดังกล่าว  ให้มีความครอบคลุมยิ่งขึ้น 
           นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี  กล่าวในตอนท้ายว่า      การประชุมเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานคุ้มครองผู้บริโภค          และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานพหุภาคีที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาส่งเสริม/สนับสนุนผู้ผลิตผลิตภัณฑ์OTOP ในวันนี้    นับเป็นการประชุมชี้แจงและหารือร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่จากทุกอำเภอ      และจากภาคส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เพื่อให้ได้รับการถ่ายทอดไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม    และมีทิศทางเดียวกันทั้งจังหวัด  เพราะ “อาหารปลอดภัย” ทำให้ชาวอุบลฯ สุขภาพดี  และมีรายได้เพิ่มขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น