วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555

คมนาคม ขายฝันสร้างไฮสปรีดเทรนจ.อุบลฯ


นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังงานเสวนาโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้และร่วมรับฟังความคิดเห็นของสาธารณชนต่อแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งพ.ศ.2556-2563 วานนี้ (21 ก.ย.) ว่า กระทรวงคมนาคมได้จัดรับฟังความคิดเห็นประชาชนที่จังหวัดอุบลราชธานี เกี่ยวกับแผนงานในอนาคตที่จะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 1.91 แสนแสนล้านบาท ซึ่งจากการสำรวจแผนงาน 5 โครงการหลักที่จะผ่านพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือประชาชนยังรับทราบโครงการไม่ถึง 55% 

อย่างไรก็ตาม ประชาชชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการในระดับสูงประมาณ 3.5-4.49 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 ขณะเดียวกันประชาชนมีความต้องการมีส่วนร่วมในภาพรวมอยู่ในระดับมากประมาณ 3.79 คะแนน สำหรับ 5 โครงการที่สำรวจ ได้แก่ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองช่วงบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา การพัฒนาสถานีขนส่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางถนน การก่อสร้างรถไฟสายใหม่ ช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-อุบลราชธานี การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย และเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-อุบลราชธานี

นอกจากนั้น ยังได้รับข้อเสนอของหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี ที่ต้องการให้ขยายถนนเชื่อมช่องเม็กเป็น 4 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 200 กม. รวมทั้งการขยายรถไฟทางคู่ไปถึงชายแดน เพื่อกระตุ้นการค้าชายแดน นอกจากนั้นยังเสนอให้พัฒนาท่าอากาศยานอุบลราชธานีเป็นท่าอากาศยานนานาชาติ โดยกระทรวงคมนาคมจะนำความคิดเห็นต่างๆ ไปปรับแผนต่อไป

ส่วนงบประมาณที่จะนำมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 1.91 ล้านล้านบาทนั้น เบื้องต้นจะเป็นเงินจากการระดมทุนในกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งในอนาคตจะมีหลายกองทุน เช่น กองทุนรถไฟความเร็วสูง กองทุนมอเตอร์เวย์ กองทุนรถไฟฟ้า รวมทั้งการกู้เงิน ซึ่งกระทรวงการคลังจะเป็นผู้พิจารณาแนวทางหาแหล่งเงินที่เหมาะสม คาดว่าน่าจะเริ่มได้รับงบประมาณเพื่อนำมาดำเนินงานในปี 2556 

ด้านนายนิมิต สิทธิไตรย์ ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า เห็นด้วยกับโครงการของกระทรวงคมนาคม หากโครงการทั้งหมดแล้วเสร็จจะเปลี่ยนภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เจริญอีกมาก แต่ขอให้เร่งดำเนินงานในโครงการที่จำเป็นก่อน เช่น การขยายถนนเชื่อมช่องเม็ก เพราะถือเป็นเส้นทางการค้าขาย และขอให้จัดเที่ยวบินเส้นทางอุบลราชธานี-อุดรธานี เพื่อเชื่อมการเดินทางระหว่างภาคตะวันออกตอนเหนือและตอนใต้ และใช้ทั้ง 2 จังหวัดเชื่อมการเดินทางไปยังภูมิภาคเอเชียต่อไป

"ผมอยากให้มีสายการบินที่ใช้เครื่องบินขนาดเล็กประมาณ 30 ที่นั่ง มาให้บริการเส้นทางบินอุบลราชธานี-อุดรธานี เพื่อให้นักธุรกิจเดินทางไปมาได้สะดวก และสามารถเดินทางไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค ซึ่งจะทำให้จังหวัดอุบลราชธานีเป็นที่สนใจของนักลงทุน" นายนิมิต กล่าว
จากกรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น