วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

ป.ป.ท.ลุยตรวจทุจริตงบภัยพิบัติด้านศัตรูพืชภาคอีสาน



สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) นายประยงค์ ปรียาจิตต์ รองเลขาธิการป.ป.ท. กล่าวถึงการตรวจสอบการใช้งบประมาณเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ด้านพืช) เช่น โรคระบาดที่เกิดขึ้นกับพืชเศรษฐกิจทั้งยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสูงผิดปกติ ว่า ป.ป.ท.ได้รับข้อมูลจากคณะอนุกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ซึ่งตรวจสอบพบว่า 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการใช้งบประมาณดังกล่าวในปี 2553 - 2555 ผิดปกติรวมเป็นเงินกว่า 5,000 ล้านบาท โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งพบว่ามีการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวถึง 1,200 ล้านบาท พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ เลขาธิการป.ป.ท.จึงสั่งการให้ตนตั้งคณะทำงานพร้อมลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบ 4 อำเภอ ในจ.อุบลราชธานี คือ อ.โขงเจียม อ.น้ำยืน อ.วารินชำราบ และอ.เมืองอุบลราชธานี พบพฤติกรรมผิดปกติในหลายประเด็น ทั้งการตั้งเบิกงบประมาณทั้งที่ไม่ได้เกิดภัยพิบัติจริง มีการทำเอกสารย้อนหลังในพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติเพื่อให้ได้งบประมาณมากขึ้น หรือกรณีที่มีภัยพิบัติแต่ประเมินความเสียหายสูงเกินจริง

" กรณีซื้อยาปราบศัตรูพืชกมธ.ต้องการให้ป.ป.ท.เข้าสืบสวนให้ได้ข้อเท็จจริง เพราะประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนมาก โดยผลการตรวจสอบพบว่ามีการจัดซื้อยาแพงกว่าราคาปกติ 8 - 10 เท่า โดยราคาขายส่งขวดละ 230 บาทต่อ 1,000 ซีซี ราคาในท้องตลาดประมาณ 280-300 บาท แต่การจัดซื้อของราชการในราคาสูงถึง 1,712 บาท นอกจากนี้ยังพบว่ายาหลายตัวเป็นยาปลอมเนื่องจากกรรมาธิการได้เรียกบริษัทผู้ผลิตยาปราบศัตรูพืชมาสอบถามพบว่ายาบางตัวบริษัทเลิกผลิตไปแล้ว " นายประยงค์กล่าว

นายประยงค์ กล่าวต่อว่า ป.ป.ท.ยังพบความผิดปกติของบริษัทที่ทำสัญญาซื้อสารเคมีกำจัดศัตรูพืชคือมีบุคคลต้องสงสัย ชื่อนายอ้วน (นามสมมุติ) ทำหน้าที่ยื่นใบเสนอราคาของบริษัทที่เกี่ยวข้อง 8 บริษัท ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด ซึ่งในการยื่นเสนอราคาจะมีใบสั่งเจาะจงเลือกบริษัทรับงาน กำหนดประเภทยา และราคายา โดยบริษัทหลายแห่งเมื่อตรวจสอบแล้วไม่ได้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยาปราบศัตรูพืช ทำให้เชื่อได้ว่ามีการทุจริตในการจัดซื้อและฮั้วประมูล ซึ่งบริษัทเหล่านี้บางแห่งเพิ่งจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทได้เพียง 1 ปี แต่มีเงินหมุมเวียนหลักพันล้านบาท เบื้องต้นผู้ที่ต้องรับผิดชอบเรื่องดังกล่าวคือผู้ลงนามในสัญญาและผู้ตรวจรับงาน ส่วนเจ้าหน้าที่ระดับสูงจะมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดต่อไป

" เฉพาะจ.อุบลราชธานีมีการประกาศภัยพิบัติ 26 ประเภท จำนวน 329 ครั้ง วงเงินกว่า 1,240 ล้านบาท โดยข้อเท็จจริงพบว่าส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดโรคระบาด หรือหากมีโรคระบาดก็ไม่รุนแรงถึงขั้นต้องประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ เช่น ปี 53 - 54 มีเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังระบาดเล็กน้อย ไม่ถึงขั้นเป็นภัยพิบัติ หรือโรคราสีชมพูในยางพารา ที่ไม่การระบาดจริงแต่มีการประกาศเป็นภัยพิบัติ งบประมาณเหล่านี้ถือเป็นเงินจำนวนมากที่ควรนำไปใช้ประโยชน์กับประชาชนแต่กลับตกไปอยู่กับคนกลุ่มเดียว ป.ป.ท.ลงพื้นที่ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ระดับล่างเกือบทุกคนร้องไห้และยอมรับว่าทำไปเพราะถูกกำหนดให้ทำ โดยยอมรับว่าการเบิกจ่ายงบภัยพิบัติฉุกเฉินมีช่องโหว่เพราะสามารถนำเงินมาใช้ก่อนทำให้เงินรั่วไหลง่ายเกินไป หลังจากนี้ป.ป.ท.จะเสนอให้มีบอร์ดป.ป.ท.มติตรวจสอบเรื่องดังกล่าว โดยจะขอให้มีการไต่สวนทุกพื้นที่ และจะกันเจ้าหน้าที่ระดับล่างไว้เป็นพยานในคดี" นายประยงค์ กล่าว

แหล่งข่าวจากชุดสืบสวนสอบสวน เปิดเผยว่า การเบิกจ่ายงบเยียวยาภัยพิบัติฉุกเฉินครั้งละ 50 ล้านบาท แต่นำไปใช้จริงกลับใช้เพียงหลักแสนบาทเท่านั้น นอกจากนี้ยังพบข้อมูลความผิดปกติที่มีการนำรายชื่อบุคคลที่เสียชีวิตไปแล้วมาแอบอ้างลงชื่อรับยาฆ่าเพลี้ย เช่น ชื่อของนายแพงหลาย นันทเสนา ซึ่งเสียชีวิตไปตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย. 2554 แต่พบว่ามีการลงชื่อรับยาเดือนก.ค.ปี 2555 หรือชาวบ้านบางรายลงรายมือชื่อเป็นผู้รับยาจริง แต่จำนวนพื้นที่เสียหาย-จำนวนสารเคมีที่ได้รับไม่ตรงความเป็นจริง ทั้งนี้ จากการสอบถามข้อมูลกับกรมวิชาการเกษตร ยังพบว่าหากมีการใช้ยาปราบศัตรูพืชตามจำนวนที่มีการเบิกจ่ายจริง ประชาชนในพื้นที่จะเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ทั้งจังหวัด เนื่องจากยาปราบศัตรูพืชเป็นยาอันตรายที่มีฤทธิ์รุนแรง การใช้แต่ละครั้งจะใช้เพียงเล็กน้อยผสมกับน้ำ ส่วนใหญ่จะใช้อัตราส่วนพื้นที่ 1 ไร่ ต่อยาปราบศัตรูพืช 2 ช้อนผสมน้ำตามสัดส่วน ดังนั้นจึงอาจเป็นโชคดีที่มีการทุจริตทำให้ยาไม่ถูกส่งไปถึงเกษตรกรครบตามจำนวนเงินที่จัดซื้อ

สำหรับ 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีการเบิกจ่ายงบภัยพิบัติฉุกเฉินด้านพืช ประกอบด้วย จ.กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุบลราชธานี และบึงกาฬ ส่วนโรคระบาดที่ประกาศเป็นภัยพิบัติ อาทิ โรคขอบไหม้ในข้าวนา โรคไหม้คอรวงข้าว โรคศัตรูพืชหนอนกอระบาดข้าวนา โรคเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง โรคราสีชมพู เป็นต้น



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น