วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555

ท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชานี พร้อมเป็นฮับแห่งอินโดจีน แน่นอน



นิมิตร สิทธิไตรย์ : ประธานหอการค้าอุบลฯ (2554 - 2555)

บทความหอการค้าอุบลฯ : สิงหาคม 2555


.................จากการที่ หอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี ได้นำเรื่อง ท่าอากาศยานนานาชาติอุบลราชธานี พร้อมเป็นฮับแห่งอินโดจีน เข้าเสนอขอความเห็นชอบจาก ครม สัญจร ที่จังหวัดสุรินทร์จน ครม สัญจร ที่สุรินทร์ มีมติที่ประชุม มอบหมายกระทรวงคมนาคม รับไปพิจารณาดำเนินการ ซึ่งหอการค้าจะเดินหน้าผลักดันต่อไป จนเกิดการบินระหว่างอินโดจีนให้ได้

เพื่อให้เห็นภาพความพร้อม สนามบินนานาชาติ จังหวัดอุบลราชธานี ผมได้ประสานท่านกิตติชัย สัจจลักษณ์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานจังหวัด อุบลราชธานี ในการขอข้อมูลเกี่ยวกับสนามบินนานาชาติ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้เห็นศักยภาพความพร้อมของสนามบินอุบลราชธานี 

สนามบินแห่งนี้ ถูกจัดตั้งให้เป็นสนามบินนานาชาติมาตั้งแต่ ปี 2543 ห่างจากตัวเมือง 1 กม. มีพื้นที่ประมาณ 168 ไร่ มีขีดความสามารถสูงสุด รับการขึ้น-ลง ของเครื่องโบอิ้ง 747 ได้ ทำการบินทั้งภายในประเทศ และทำการบินเข้า-ออก ไปต่างประเทศได้โดยตรง มีหน่วยงานด้านพิธีการบิน ศุลกากร, ตรวจคนเข้าเมือง, ด่านกักกันพืชสัตว์ และสำนักควบคุมโรคติดต่อ เป็นที่ตั้งศูนย์วิทยุการบินหลัก

พูดแบบฟันธงคือ มีความพร้อมในระดับสากลครับ อีกทั้งศักยภาพพื้นฐานที่ดีมากคือ ศักยภาพทางกายภาพด้าน ทางวิ่ง (runway) เป็นผิวแอสฟัลท์ตอฃิคคอนกรีต กว้าง 45 เมตร ยาว 3000 เมตร อากาศยานสามารถขึ้น-ลง ได้ 2 ด้าน คือ ทิศ 05 และ 23 ด้าน ทางขับ (Taxi way) เป็นผิวแอสฟัลท์ตอฃิคคอนกรีต กว้าง 30 เมตร ยาว 150 เมตร 2 เส้น คือ taxi A และ taxi B ด้านลานจอด (Apon) เป็นพื้นผิวคอนกรีต กว้าง 120 เมตร ยาว 270 เมตร สามารถรองรับการจอดอากาศยาน โบอิ้ง 373-400 จำนวน 2 ลำ และ อากาศยานแบบ แอร์บัส จำนวน 1 ลำ ในเวลาเดียวกัน ปัจจุบันมีการบินจากอุบลราชธานี ไปยังเมืองสำคัญคือ กรุงเทพ, เชียงใหม่ และภูเก็ต

สถิติผู้โดยสารปี 2551-25554 จากการเปรียบเทียบผู้โดยสารเข้า-ออก ปี 2551 จำนวน 391,808 คน ปี 2554 จำนวน 614,739 คน ซึ่งเมื่อทำการเปรียบเทียบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอัตรา 56 % ศักยภาพการให้บริการของสนามบิน นานาชาติอุบลราชธานี นั้น มีโครงสร้างจะสร้างรองรับ ได้เป็น ล้านคนต่อปี และทั้งรัฐบาล ได้จัดงบประมาณกว่า 200 ล้าน มาพัฒนาต่อเนื่องจาก 2556-2557 ในอดีตอุบล เคยมีเที่ยวบิน กรุงเทพ-อุบล-ดานัง ( การบินไทย) , อุบล-อุดร และ อุบล-เชียงใหม่ ด้วยบริษัทการบินเอกชน อยู่ระยะหนึ่ง แล้วเลิกไป ดังนั้นการบินระหว่างประเทศไม่ใช่เรื่องใหม่ของสนามบินนานนาชาติ แห่งนี้

แนวคิดเรื่อง การเดินทาง ทางอากาศเชื่อมต่อกันในภูมิภาคนั้น ไม่ใช่เพิ่มเริ่มคิดกัน แต่คิดกันมานานแล้วกว่า 1 ปี แต่ก็มักจะติดกรอบแนวคิดที่ว่า จะคุ้มต่อการลงทุนหรือไม่ จะมีจำนวนผู้โดยสารมาใช้บริการเท่าไหร่ ก็ยอมรับว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้วอาจจะต้องกังวลบ้าง แต่ปัจจุบันในกรอบ AEC ไทยเป็นผู้รับผิดชอบ เรื่องการบินและการท่องเที่ยว ไทยต้องชิงการนำทั้งสองเรื่องให้ได้ สนามบินนานาชาติ อุบล คือ โอกาสในการชิง การนำในการบริการการบินในภูมิภาคอินโดจีน หากจะมองประเทศเพื่อนบ้านอย่างเช่น ลาว เมืองปากเซ แขวงจำปาศักดิ์ ( ห่างจากอุบลทางช่องเม็ก แค่ 40 กม. ) ได้พัฒนาการบินเชื่อมต่อ ระหว่างเมืองสำคัญในอินโดจีนไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าในเวียดนาม ( ฮานอย-โฮจิมินซิตี้ ) กัมพูชา ( พนมเปญ – เสียมเรียบ ) และเร็วๆนี้ ( ตุลาคม ) ลาวจะมีเที่ยวบินจากปาเซ ไปดานัง ซึ่งไทยโดยจังหวัดอุบลราชธานี ยังอยู่นิ่งเฉยอาจจะทำให้เสียโอกาสการเป็นผู้นำด้านการบินไป แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนาการบินในกลุ่มอาเซียน ไทยต้องชัดเจน เน้นเรื่องการเชื่อมต่อสร้างระบบการบริการที่มีมาตรฐานโดยมีเราเป็นผู้ประสานนำทีม

หากจะให้เสนอว่าแล้วควรทำอย่างไร คำตอบแบบตรงไปตรงมาคือ เที่ยวบินจากอุบลของเรา ต้องมีเที่ยวบินจากอุบลราชธานีถึงจังหวัดอุดรธานี เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างอีสานเหนือและอีสานใต้ และระหว่างประเทศ ควรจะมี เที่ยวบินจากอุบล ไป เมืองดานัง (เวียดนาม) และเที่ยวบินจากอุบลราชธานีไป เสียมเรียบ (กัมพูชา) ถือเป็นการเริ่มชิงการนำ จะด้วย เครื่องบินขนาดกลาง เพื่อบินตรง หรือต่อเนื่องจากเที่ยวบินมาถึงอุบล เช่น ภูเก็ต-อุบล-ต่อไป เสียมเรียบ หรือ เชียงใหม่ – อุบล-ต่อไปถึง ดานัง เป็นต้น

หากพิจารณาให้ชัดเจน จะเห็นว่า สนามบินนานาชาติ อุบลราชธานี เมื่อชื่อมต่อ กับสนามบินอุดรธานี แล้ว การเดินทางแทบจะไม่มีข้อจำกัดอีกต่อไป ทั้งจะเป็นการชี้ชัดว่า สนามบินนานาชาติอุบลราชธานี จะช่วยแบ่งเบาภาระของสนามบินสุวรรณภูมิได้ สามารถพัฒนาเป็นศูนย์การการซ่อมบำรุง , หรือ ศูนย์ด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศได้ นั่นจึงเป็นคำตอบสุดท้ายที่ว่า ถึงเวลาแล้ว ที่จะ ต้องดำเนินการให้อุบลราชธานี เป็นฮับทางการบินของอินโดจีนอย่างเป็นรูปธรรม และ ก่อน ปี 2558 จะมาถึงด้วย และผมเชื่อด้วยว่า ต่อไปคนอีสานจะเดินทางไปที่ใดในโลก จากสนามบินนานาชาติอุบลราชธานีของเราแห่งนี้แน่นอน สุดท้ายในนามหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี ต้องขอขอบคุณ ท่านกิตติชัย สัจจลักษณ์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานจังหวัดอุบลราชธานี ในการอนุเคราะห์ สนับสนุนข้อมูล ให้ความร่วมมือในการประสานทุกด้านด้วยดีมาตลอด 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น